รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี COVID-19 Global Action Plan (GAP) for Enhanced Partnership ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๗ ณ นครนิวยอร์ก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี COVID-19 Global Action Plan (GAP) for Enhanced Partnership ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๗ ณ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ก.ย. 2565

| 21,299 view

เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี COVID-19 Global Action Plan (GAP) for Enhanced Partnership Ministerial Meeting ซึ่งสหรัฐฯ สเปน บอตสวานา และบังกลาเทศ เป็นเจ้าภาพร่วมในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๗ ณ นครนิวยอร์ก

การประชุมฯ มีผู้เข้าร่วมจากกว่า ๒๐ ประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ที่ได้ทำงานร่วมกันในฐานะพันธมิตรเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ตลอดจนเสริมสร้างความพร้อมและการตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในอนาคต

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำเสนอแนวทางของไทยในการร่วมสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ๓ (SDG3) รวมทั้งส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพและความสมานฉันท์ในระดับโลก โดยเน้น ๓ เรื่องหลัก ดังนี้

(๑) ไทยส่งเสริมความเท่าเทียมกันด้านสุขภาพ ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยปกป้องสุขภาพของประชาชนทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติและให้บริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียม

(๒) ไทยลงทุนเรื่องการฝึกอบรมและสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในกระบวนการรับมือกับโรคระบาด ดังนั้น จึงมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขของโลก ในการนี้ ได้ย้ำ
๒ โครงการหลัก ได้แก่ (๑) ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านการฝึกอบรมนักระบาดวิทยารายใหม่และแรงงานต่างชาติ เพื่อช่วยควบคุมโรคระบาด และ (๒) การจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ในฐานะศูนย์กลางความเป็นเลิศและศูนย์กลางระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกัน เตรียมพร้อม ตรวจหา และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เกิดใหม่

(๓) ไทยย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และเร่งสร้างความคืบหน้าของการดำเนินการตามเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการนี้ ได้ย้ำถึงการพัฒนาคลังผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ โดยเน้นเรื่องความยั่งยืน ผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียน และการรีไซเคิลของเสีย

การประชุมฯ เป็นเวทีสำหรับไทยในการย้ำความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุข ให้มีความเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และครอบคลุมข้อริเริ่มด้านสาธารณสุขในมิติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการจัดทำตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกัน เตรียมพร้อม และรับมือกับการระบาดใหญ่ภายใต้องค์การอนามัยโลก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ