ถ้อยแถลงของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๗ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๕ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

ถ้อยแถลงของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๗ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๕ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 ก.ย. 2565

| 55,643 view

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

ถ้อยแถลงของ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๗

วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๕ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

 

ท่านประธาน
คณะผู้แทนผู้ทรงเกียรติทุกท่าน

๑. ผมขอแสดงความยินดีที่ท่านได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๗ และขอแสดงความยินดีกับทีมงานของท่าน ขอให้มั่นใจว่า ไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของท่านอย่างเต็มที่ในการดำเนินภารกิจที่สำคัญให้สำเร็จ

๒. เราอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งสำหรับประชาคมระหว่างประเทศและสหประชาชาติเราอยู่ในจุดที่การตัดสินใจและการกระทำของเราจะส่งผลต่อโลกและต่อมนุษยชาติในอนาคตข้างหน้า โดยเราต้องดำเนินการร่วมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมและการเคารพซึ่งกันและกัน

๓. การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ยิ่งส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ชี้ว่า การแพร่ระบาดฯ ส่งผลให้ความคืบหน้าจากการพัฒนาถดถอยลงไปอย่างน้อยสี่ปี นอกจากนี้ โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ ในระหว่างที่กำลังพยายามฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดฯ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

๔. เรากำลังเห็นความขัดแย้งใหม่ ๆ นอกเหนือจากความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในระดับระหว่างประเทศ เรากำลังเผชิญกับวิกฤติด้านอาหาร พลังงาน และการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงที่สุดต่อผู้ที่มีความเปราะบางมากที่สุด ได้แก่ ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (SIDS) และกลุ่มเปราะบาง อาทิ สตรี เด็กหญิง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันในเวลานี้เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายดังกล่าว

การก้าวข้ามวิกฤตและความท้าทาย

ท่านประธาน

๕. วิกฤตอาหารส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ไทยในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารและผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก ก็ได้รับผลกระทบจากราคาอาหารสัตว์ ปุ๋ย และอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารโลกเหล่านี้เป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ อย่างไม่เท่าเทียมกัน

๖. ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือในระดับพหุภาคีระหว่างหุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน องค์กรภายใต้สหประชาชาติ องค์การการค้าโลก และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการอำนวยความสะดวกให้เกิดการหารือร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และเสริมสร้างการประสานนโยบายระหว่างกันเพื่อรับมือกับวิกฤตอาหารข้างต้น นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องรักษาห่วงโซ่อุปทานโลกให้เปิดกว้างและเอื้อต่อการเคลื่อนย้ายอาหาร ปุ๋ย และสินค้าจำเป็นข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งพัฒนาระบบอาหารให้มีความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และช่วยให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอาหารที่มีความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพอย่างเท่าเทียม ไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศเพื่อให้วิสัยทัศน์เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

๗. ในโอกาสนี้ ไทยยินดีต่อข้อริเริ่มว่าด้วยการขนส่งธัญพืชในพื้นที่ทะเลดำ (Black Sea Grain Initiative) ของสหประชาชาติ เพื่อสร้างเส้นทางการขนส่งธัญพืชอย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยบรรเทาวิกฤตอาหารโลก ข้อริเริ่มดังกล่าวยังแสดงถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้กรอบการดำเนินงานของสหประชาชาติในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ของโลก

๘. นอกเหนือจากความท้าทายเรื่องความไม่มั่นคงทางอาหาร เรายังจำเป็นต้องก้าวข้ามปัญหาจากความไม่มั่นคงทางสุขภาพด้วย เราได้เรียนรู้จากการระบาดใหญ่ในครั้งนี้ว่า สุขภาพที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ด้วยเหตุนี้ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” จึงเป็นเรื่องสำคัญในระดับต้นสำหรับเราทุกคน โดยเราจำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และการเข้าถึงยาและวัคซีนพื้นฐานที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาสมเหตุสมผลสำหรับทุกคน อีกทั้งเรายังต้องส่งเสริมและปกป้องสิทธิในการได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสูงสุด (right to the highest attainable standard of health) ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน เรายังคงต้องลงทุนเพื่อส่งเสริมระบบการคุ้มครองทางสังคมอย่างครอบคลุมสำหรับประชาชนทุกคน ดังเช่นที่เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวไว้ในรายงาน เรื่อง “Our Common Agenda”

๙. เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางสุขภาพ โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุขของโลกต้องได้รับการปฏิรูป ทั้งเชิงโครงสร้างและด้านการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องและความล้มเหลวของระบบสุขภาพในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงสนับสนุนการจัดทำตราสารระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันการเตรียมพร้อม และการรับมือกับการระบาดใหญ่ ภายใต้องค์การอนามัยโลก ตราสารฉบับดังกล่าวจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน “ความเท่าเทียม” เพื่อช่วยสร้าง “ความสามารถในการพึ่งพาตนเอง” ของประเทศกำลังพัฒนา เมื่อต้องรับมือกับการระบาดใหญ่ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเวชภัณฑ์

การเร่งสร้างความคืบหน้าเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

๑๐. เราจะสามารถเร่งสร้างความคืบหน้าของการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เมื่อเรามีความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางสาธารณสุขที่ดีขึ้น ในการนี้ การดำเนินงานที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนจึงเป็นแนวทางในการสร้างหลักประกันต่อสิทธิและความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะสิทธิและความต้องการของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังที่สุด ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตในอนาคต ในแง่นี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นทั้งหนทางและเป้าหมายสูงสุดเพื่อความอยู่รอดของประชาชนในปัจจุบันและชนรุ่นหลัง

๑๑. โดยที่เราเหลือเวลาอีกเพียง ๘ ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีในการทำงานร่วมกันในทุกระดับเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว ทั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หากไม่มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจะไร้อนาคต เราจึงต้องส่งเสริมความร่วมมือเหนือ-ใต้ ความร่วมมือใต้-ใต้ และการบูรณาการวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ กับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ทั้งในระดับโลกและภูมิภาค ด้วยเหตุนี้คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก
แห่งสหประชาชาติและอาเซียนจึงร่วมมือกันส่งเสริมความเกื้อกูลระหว่างวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ นอกจากนี้ การที่ไทย ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติและสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ เป็นเจ้าภาพจัดงานนิทรรศการเพื่อการพัฒนาใต้-ใต้ (Global South-South Development Expo)
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่กรุงเทพมหานคร สะท้อนว่า ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการพัฒนา โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน

๑๒. นอกจากนี้ การระดมทุนเพื่อการพัฒนา และการแสวงหาแหล่งเงินทุนจากแหล่งใหม่ ๆ เป็นส่วนสำคัญต่อการทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดผลที่เป็นรูปธรรมสำหรับทุกคน ไทยเห็นพ้องกับข้อเสนอของเลขาธิการสหประชาชาติในการส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศชั้นนำ เพื่อระดมทุนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

๑๓. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ–เศรษฐกิจหมุนเวียน–เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มาเป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างสมดุลในช่วงการฟื้นฟูจากวิกฤต โมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้ผนวกรวมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้าด้วยกันเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

๑๔. เพื่อดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้แนวทางที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง กับการปกป้องโลก ไทยจึงพร้อมทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศในการจัดการกับวิกฤตหลักของโลก ๓ ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเจรจากรอบการดำเนินงานระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๐ (Post-2020 Global Biodiversity Framework) และตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลผูกพัน
ทางกฎหมาย

๑๕. เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไทยยึดมั่นต่อคำมั่นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (COP26) เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ ไทยจะสามารถเพิ่มระดับข้อเสนอการมีส่วนร่วมของไทยในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution: NDC) ขึ้นเป็นร้อยละ ๔๐ และบรรลุเป้าหมาย
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ หากไทยได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ไทยจะยื่นข้อเสนอ NDC และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy) ซึ่งระบุเป้าหมายข้างต้น ก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๗ (COP27) ที่เมืองชาร์ม เอล ชีค

๑๖. ขณะเดียวกัน ประเทศพัฒนาแล้วก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำมั่นของตน ผมขอให้ประเทศพัฒนาแล้วรักษาคำสัญญาที่จะให้การสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพแก่ประเทศกำลังพัฒนา และการบรรลุเป้าหมายในการระดมเงินทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศจำนวน ๑๐๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี เพื่อจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังควรให้ความสนใจต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเท่าเทียมกัน ไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับอียิปต์และพันธมิตรทั้งหมดในเวที COP27 เพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว

การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบพหุภาคีและสหประชาชาติ

ท่านประธาน

๑๗. เราจำเป็นต้องฟื้นคืนศรัทธาและความเชื่อมั่นให้ระบบพหุภาคีและสหประชาชาติของเรา ซึ่งก้าวสำคัญสู่เป้าหมายดังกล่าวคือ การสลายการแบ่งขั้วในสหประชาชาติ โดยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้นในประเด็นที่เรามีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมถือเป็นหนึ่งในประเด็นเหล่านั้น

๑๘. ไทยจะทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงความต้องการของประเทศที่ได้รับผลกระทบ เพื่อรับมือกับความท้าทายเร่งด่วนด้านมนุษยธรรม ผ่านการดำเนินงานตามหลักมนุษยธรรมโดยไม่แบ่งขั้วทั้งในระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับพหุภาคี เราจึงได้สนับสนุนการทำงานด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถานผ่านโครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP) และมอบเงินบริจาคแก่ยูเครนผ่านสภากาชาดยูเครน และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF)

๑๙. กรณีเมียนมา ไทยได้ทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาที่เดือดร้อนผ่านโครงการต่าง ๆ ในระดับทวิภาคี ซึ่งรวมถึงการบริจาควัคซีนโควิด-๑๙ จำนวน ๑ ล้านโดสและอีกหลายโครงการผ่านอาเซียน เรายังได้มอบเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์การระหว่างประเทศ เช่น กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) โครงการอาหารโลก (WFP) รวมถึงคณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cros: ICRC)

๒๐. ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนร่วมกันยาวกว่า ๒,๔๐๑ กิโลเมตร ไทยหวังที่จะเห็นสถานการณ์ในเมียนมากลับสู่สันติภาพและมีเสถียรภาพโดยเร็ว จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาเร่งหาทางคลี่คลายสถานการณ์ ยุติความรุนแรง และร่วมพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ไทยสนับสนุนเต็มที่เพื่อให้อาเซียนมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์และเชื่อว่าอาเซียนมีความพร้อมที่สุดในการช่วยเหลือเมียนมา ผ่านแนวปฏิบัติของอาเซียนว่าด้วยการให้คำปรึกษา ความร่วมมือ และหลักฉันทามติ ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ ไทยจึงพร้อมมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการสนับสนุนกระบวนการของอาเซียน ตลอดจนบทบาทของผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาเช่นนี้ต่อไป

๒๑. ในฐานะประเทศที่เชื่อมั่นอย่างยิ่งในระบบพหุภาคี ไทยพร้อมที่จะสานต่อบทบาทด้านการส่งเสริมความร่วมมือระดับพหุภาคีและความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับ ทั้งนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืนและสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เนื่องจากมีความสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ไทยจึงขอประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗ หากได้รับการเลือกตั้ง เราสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ รวมถึงกลไกที่เกี่ยวข้อง ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังที่สุด และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านบวกขึ้นในทางปฏิบัติ

๒๒. ไทยเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การทำงานร่วมกันในภูมิภาคอย่างใกล้ชิดจะช่วยเกื้อกูลการทำงานของระบบพหุภาคีและสนับสนุนการขับเคลื่อนวาระโลก โดยปีนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการใช้ทุกโอกาสที่มี เชื่อมโยงกันในทุกมิติ และสร้างสมดุลในทุกแง่มุม ประเด็นเหล่านี้สะท้อนความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือระดับพหุภาคี ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนยิ่งขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ เราหวังว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับเหล่าผู้นำที่กรุงเทพมหานครในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากขณะนี้ ไทยกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบและพร้อมจะต้อนรับผู้มาเยือนอีกครั้ง

ท่านประธาน

คณะผู้แทนผู้ทรงเกียรติทุกท่าน

๒๓. แม้จะมีความท้าทายและความยากลำบากหลายประการในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ไทยยังคงศรัทธาในระบบพหุภาคีที่มีสหประชาชาติเป็นแกนกลาง และเรายังคงเชื่อมั่นว่าไมตรีจิตและผลประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ถูกต้อง ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อช่วยให้เราเดินหน้าด้วยกันสู่อนาคตที่มั่นคง ยั่งยืน และปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยจะไม่มีใคร หรือประเทศไหน ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

๒๔. ตอนนี้ ผมขอกล่าวเพิ่มเติมโดยสังเขปก่อนที่จะจบถ้อยแถลงครั้งนี้

๒๕. เมื่อสองถึงสามวันที่ผ่านมา ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงกล่าวว่า “อย่ามองข้ามความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในวิกฤตยูเครน”

๒๖ ผมอยากกล่าวถึงสุภาษิตของชาวตะวันออกเกี่ยวกับการขี่หลังสัตว์ในเชิงสันทนาการ ไม่ว่าสัตว์นั้นจะเป็นเสือหรือมังกรก็ตาม ซึ่งผมขอใช้เสือเป็นตัวอย่างในบริบทนี้ การขี่หลังเสืออาจเป็นเรื่องที่สนุกและท้าทาย แต่คงไม่มีใครที่อยากจะสนุกกับการขี่หลังเสือนั้นต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น คำถามที่อาจเกิดขึ้นในใจ คือ “เราจะลงจากหลังเสืออย่างไรให้แคล้วคลาด โดยไม่จำเป็นต้องฆ่าเสือตัวนั้น”

๒๗. จากแง่มุมนี้ คำถามดังกล่าว จึงเรื่องลำบากใจที่จะตอบ ผมจึงมีข้อเสนอที่ได้ประมวลจากเหตุปัจจัยทั้งปวง และข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้หลุดไปจากสัจนิยมทางการเมืองระหว่างประเทศ (realpolitik free) ทางออกหนึ่งที่ดูเหมือนจะสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนก่อนสุดท้ายของปี คือ การสร้างโอกาสแรกและโอกาสทองให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของวิกฤตยูเครนได้รวมตัวกัน ณ สามแห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะผู้ที่มีสิทธิในการเข้าร่วมอย่างชอบธรรม

๒๘. สถานที่สามแห่งที่กล่าวถึงข้างต้น ได้แก่ หนึ่ง พนมเปญ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน สอง บาหลี ในช่วงการประชุม G20 และ สาม กรุงเทพมหานคร ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดสามารถเลือกพบกันในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งข้างต้น หรือทั้งหมด (in a series) ตามแต่เหมาะสม เพื่อหารือทางออกที่เป็นไปได้สำหรับวิกฤตความตึงเครียดระดับโลกในยูเครน

๒๙. สหประชาชาติ ในฐานะองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทและกลไกที่เกี่ยวข้องในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลก สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในความพยายามหาทางออกร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียข้างต้น๓๐. ผมจึงหวังว่า เหล่ามหาอำนาจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะไม่ปล่อยให้โอกาสทองในการแก้ไขปัญหาวิกฤตยูเครนครั้งนี้ผ่านไป

ขอบคุณครับ

 

**********

 


************

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

วิดีโอประกอบ