วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ก.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 ก.ค. 2567
เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๗ และการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (AMM/PMC) ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วม ๓ นัดหมายที่เกี่ยวข้องกับ สหรัฐฯ ดังนี้
(๑) หารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายย้ำความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน พร้อมทั้งยินดีต่อผลการหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ (Thailand – U.S. Strategic Dialogue) ครั้งที่ ๙ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ รวมถึงทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะผลักดันความร่วมมือในหลากหลายมิติ อาทิ การค้า การลงทุน สาธารณสุขและความเชื่อมโยงในระดับประชาชน นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในเมียนมาด้วย
(๒) เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership: MUSP) ครั้งที่ ๓ ซึ่งมีนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว และนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นประธานร่วม ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ยินดีกับพัฒนาการของกรอบ MUSP และชื่นชมการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา โดยที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นแนวทางความร่วมมือในอนาคตและรับรองแผนดำเนินการ MUSP ฉบับใหม่ (ค.ศ. ๒๐๒๔-๒๐๒๖) ซึ่งกำหนดแนวทางความร่วมมือใน ๔ สาขาหลัก ได้แก่ (๑) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (๒) การบริหารและการใช้น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (๓) การรับมือกับประเด็นด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ และ (๔) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้ย้ำความพร้อมของไทยที่จะรับตำแหน่งประธานร่วมในกรอบ MUSP ร่วมกับสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๘ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก MUSP อย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะ (๑) การส่งเสริมเศรษฐดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (๒) ความร่วมมือในการแก้ปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงปัญหาการค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ ปัญหาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การหลอกลวงออนไลน์ และ (๓) การรับมือกับปัญหามลภาวะทางอากาศข้ามพรมแดนเพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์แก่ประชาชนและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
(๓) เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ โดยในที่ประชุม ไทยได้ผลักดันความร่วมมือกับสหรัฐฯ ภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) ที่สอดคล้องกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) และยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยได้หยิบยก ๒ ประเด็นหลักในการมุ่งกระชับความสัมพันธ์ ได้แก่ (๑) การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถและทักษะด้านดิจิทัล เพื่อลดช่องว่างระหว่างการพัฒนาด้านดิจิทัล การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน และ (๒) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขให้สามารถป้องกัน รับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข รวมถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **