รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติดตามนายกรัฐมนตรีเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติดตามนายกรัฐมนตรีเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 ต.ค. 2567

| 4,116 view

           เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ติดตามนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  

           การเยือน สปป. ลาว ครั้งนี้เป็นการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ซึ่งย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์พิเศษระหว่างไทย - ลาว ที่เป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน

          ระหว่างการเยือน นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าเยี่ยมคารวะนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และพบหารือกับนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

          ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับความเป็นหุ้นส่วนและความสัมพันธ์ทวิภาคีให้ก้าวไปข้างหน้า โดยสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและการพบหารือในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะความร่วมมือในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาข้ามแดน การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน

การส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาข้ามแดน

          ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ให้คำมั่นที่จะยกระดับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาข้ามแดนซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติด การหลอกลวงออนไลน์ การค้ามนุษย์ และมลพิษจากหมอกควัน นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง โดยเน้นการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้า และการใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะ ACMECS เพื่อระดมทรัพยากรและความเชี่ยวชาญในการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง

ความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่ง

          ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

          ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดโครงการความเชื่อมโยงต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดน โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปีหน้า และการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 12 จากชายแดนไทย - ลาว ไปยังชายแดนลาว - เวียดนาม ภายในปี 2568

          นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือความริเริ่มใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในอนาคต อาทิ ส่วนต่อขยายทางรถไฟจากสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ไปยังสถานีนครหลวงเวียงจันทน์เพื่อเชื่อมต่อรถไฟไทย – ลาว กับรถไฟลาว - จีน การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี - สาละวัน) และการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ระหว่างจังหวัดหนองคายกับนครหลวงเวียงจันทน์

          ฝ่ายไทยได้ขอบคุณฝ่ายลาวที่ให้ความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าขึ้นรถไฟลาว - จีน ที่ท่าบกท่านาแล้ง และอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปยังจีนในช่วงฤดูผลไม้

การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน

          ทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีกับจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวไทยเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 ที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวใน สปป. ลาว และนักท่องเที่ยวลาวเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 6 ที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “Six Countries, One Destination”

          ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาผ่านโครงการพระราชดำริใน สปป. ลาว ได้ส่งเสริมความเกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนในท้องถิ่น

          ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนต่อประชาชน เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ลาว ในปี 2568 

          ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้ใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคซึ่งอยู่ในความสนใจร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการเป็นประธานอาเซียนของ สปป. ลาว ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่  ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการรักษาความสงบ ความมั่นคง แลการพัฒนาในภูมิภาค

ผู้นำทั้งสองฝ่ายเป็นพยานในพิธีลงนามเอกสาร ดังนี้

(1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

(2) บันทึกความเข้าใจเพื่อการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองมิตรภาพระหว่างจังหวัดขอนแก่นราชอาณาจักรไทยกับนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานด้านชั่งตวงวัดระหว่างกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกรมมาตรฐานและวัดแทก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

(4) หนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อเสริมกำลังสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ระหว่างกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่งแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

(5) บันทึกการดำเนินการด้านเทคนิคสำหรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว

(6) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและรองรัฐมนตรีกระทรวงภายในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบผลการศึกษาและรายละเอียดโครงการก่อสร้างสะพานเชียงแมน – หลวงพระบาง ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ให้แก่นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ