รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ต.ค. 2567

| 3,787 view

เมื่อวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในฐานะประธานอาเซียนสำหรับปี 2567 ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานของอาเซียนตลอดทั้งปีภายใต้แนวคิดหลัก ได้แก่ “อาเซียน: เพิ่มทวีความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งในอาเซียน” (ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience) โดยเมื่อ 8 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (AMM) การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) ครั้งที่ 28 และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ACC) ครั้งที่ 35 เพื่อเตรียมการการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้

คณะผู้แทนไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับคณะผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อหาแนวทางร่วมกันรับมือกับสถานการณ์และประเด็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนในภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นปัญหาความมั่นคง อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ายาเสพติด การหลอกลวงออนไลน์ รวมทั้งการจัดประชุม Extended Informal Consultation ที่ประเทศไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยได้ร่วมผลักดันความร่วมมือในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการดำเนินการร่วมกันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเป็นกลางทางคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เศรษฐกิจสีเขียว และส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ ความเชื่อมโยงและความมั่นคงทางพลังงาน การบริหารจัดการน้ำข้ามแดน ตลอดจนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการส่งเสริมการเชื่อมโยงดิจิทัล การเสริมสร้างทักษะทางดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ MSMEs และการจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน หรือ “DEFA” ให้แล้วเสร็จในปี 2568 นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเป็นแกนกลางและความเป็นเอกภาพของอาเซียนในการมีฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอก ในการนี้ ไทยแสดงความพร้อมมีบทบาททำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนา

ในการประชุมกับคู่เจรจาต่าง ๆ ของอาเซียน คณะผู้แทนไทยได้ผลักดันความร่วมมือด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และประเด็นด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ (การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 27) ความร่วมมือในเทคโนโลยีนำสมัยและเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 25) ความร่วมมือในเศรษฐกิจดิจิทัล วาระสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ตลอดจนการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 27) ความร่วมมือเสริมสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาค และความร่วมมือด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางอาหาร การบริหารจัดการน้ำ และการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงิน (การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม (APT) ครั้งที่ 27) ความเชื่อมโยงทางกายภาพ เศรษฐกิจ และระหว่างประชาชน และความร่วมมือกับอินเดียผ่านการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำบิมสเทคของไทย (การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 21) ความร่วมมือด้านความมั่นคงของมนุษย์ สาธารณสุข นวัตกรรมสีเขียว การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน และความมั่นคงทางอาหารผ่านเทคโนโลยีด้านการเกษตร (การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 4) สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในภูมิภาค และความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำผ่านกรอบหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ซึ่งไทยจะเป็นประธานร่วมกับสหรัฐฯ ในปี 2568 (การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 12) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนผ่านการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา และการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการในภูมิภาค (การประชุมสุดยอดอาเซียน-แคนาดาสมัยพิเศษ) พร้อมได้ยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการ EAS และส่งเสริมความร่วมมือภายใต้แผนการดำเนินงาน EAS เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค  (การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ครั้งที่ 19)

นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมหารือกับผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และเยาวชนอาเซียน ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำอาเซียนกับภาคประชาสังคมอาเซียน โดยไทยเน้นย้ำสนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง คณะผู้แทนไทยยังได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 14 และการประชุม Asia Zero Emission Community Leaders' Meeting ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการประชุมส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคเอเชีย

เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ สามารถเข้าดูได้ที่ https://asean.org/44th-and-45th-asean-summits-and-related-summits/

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ