วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ก.ค. 2567
เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ค. ๒๕๖๗ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในห้วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๗ และการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (AMM/PMC) ที่เวียงจันทน์ ได้เข้าร่วม ๒ การประชุม ได้แก่ การประชุมคณะกรรมาธิการสำหรับเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) หรือสนธิสัญญากรุงเทพฯ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับผู้แทนคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) รวมถึงมีการหารือทวิภาคี ๒ นัดหมาย ได้แก่ กับนางเริตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย และ ดร. เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน รายละเอียด ดังนี้
(๑) การประชุม SEANWFZ หรือสนธิสัญญากรุงเทพฯ ติดตามความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการพิทักษ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงทุกชนิด โดย รัฐมนตรีฯ ได้สนับสนุนการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในทุกภูมิภาค เพื่อเป้าหมายในการขจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง และยินดีอย่างยิ่งกับเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมสนธิสัญญาฯ ของติมอร์-เลสเต นอกจากนี้ ที่ประชุมได้สนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับภาคีภายนอก โดยไทยพร้อมจะเป็นสะพานเชื่อม (bridge builder) เพื่อส่งเสริมการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
(๒) การประชุม AICHR ที่มี ศ.กิตติคุณ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยใน AICHR เข้าร่วมด้วย ได้ติดตามการดำเนินการในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในอาเซียน โดยรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำบทบาทนำของ AICHR และผู้แทนไทยใน AICHR ในการเสริมสร้างภูมิภาคที่เสมอภาคและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน อาทิ การส่งเสริมสิทธิเด็ก สตรี และคนพิการ และสิทธิมนุษยนชนในมิติต่าง ๆ ทั้งในด้านธุรกิจ สิ่งแวดล้อม รวมถึงในโลกไซเบอร์ด้วย
(๓) การหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับอินโดนีเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเอกชนเพื่อเพิ่มพูนปริมาณการค้าการลงทุนในด้านต่าง ๆ อาทิ ในสาขาความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงทางพลังงาน อีกทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน โดยเฉพาะบทบาทของอาเซียนในการช่วยนำความสงบสุขกลับคืนสู่เมียนมา โดยฝ่ายอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับบทบาทของไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาในเรื่องดังกล่าว และทั้งสองประเทศจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
(๔) การหารือทวิภาคีกับเลขาธิการอาเซียน ถึงการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง มีเอกภาพ และสามารถรับมือกับความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต รวมถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยรัฐมนตรีฯ ได้ชื่นชมบทบาทของเลขาธิการฯ ในการส่งเสริมประชาคมอาเซียน และยืนยันความพร้อมของไทยในการสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต ผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพ การฝึกอบรม และทุนการศึกษา นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ยังได้กล่าวถึงการสร้างเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล และความร่วมมือด้านสาธารณสุขด้วย
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **