รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 8 ที่นครคุนหมิง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 8 ที่นครคุนหมิง

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 พ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 พ.ย. 2567

| 1,759 view

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (8th Greater Mekong Subregion Summit) ที่นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่การเป็นประชาคมที่ดีกว่าเดิม ด้วยการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำในรูปแบบพบหน้าครั้งแรกตั้งแต่ปี 2561 โดยที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ (1) แถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 8 และ (2) ยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ปี ค.ศ. 2030

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาของ GMS ใน 3 ด้านหลัก ดังนี้ (1) ด้านความเชื่อมโยง (Connectivity) ผ่านการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการค้าการลงทุน และการดำเนินการตามความตกลงด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างประเทศ (2) ด้านการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ผ่านการแบ่งปันความสำเร็จในการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดโดยการใช้จ่ายผ่าน QR Code ข้ามพรมแดน และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของไทย และ (3) ด้านการเป็นประชาคม (Community) ผ่านการเน้นย้ำและส่งเสริมการพัฒนาอย่างครอบคลุม ได้แก่ การศึกษาที่เท่าเทียมและมีคุณภาพ การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ การสวัสดิการสาธารณสุขในโครงการ “30 บาท รักษาทุกที่”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำความสำคัญของปัญหาช่องว่างทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อกลุ่มคนเปราะบางและคนที่ขาดโอกาส โดยเร่งส่งเสริมประชาคมให้ดีขึ้นผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และได้เสนอแนวทางการพัฒนาอนุภูมิภาคผ่าน “นวัตกรรมที่ครอบคลุมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” พร้อมหยิบยกกรณีศึกษาของประเทศไทย ประกอบด้วย (1) การบูรณาการการส่งเสริมนวัตกรรมไว้ในนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาประเทศ (2) นวัตกรรมด้านการเงินของไทย ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินแบบไร้รอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และ (3) การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ