รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสาหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยกับเอสแคป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสาหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยกับเอสแคป

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ธ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ธ.ค. 2567

| 1,459 view

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับนางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา เลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสาหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยกับเอสแคป
 
ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งความประสงค์ของฝ่ายไทยที่จะร่วมมือกับเอสแคปเพื่อหาแนวทางในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยต่อยอดจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาของไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบพหุภาคีและบทบาทของสหประชาชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และปัญหามลภาวะทางอากาศข้ามพรมแดน
 
ในโอกาสนี้ เลขาธิการบริหารเอสแคปชื่นชมบทบาทของไทยในฐานะประเทศเจ้าบ้านของเอสแคป และการสนับสนุนการปรับปรุงอาคารที่ทำการของเอสแคปในกรุงเทพฯ ให้ทันสมัยและปลอดภัย รวมทั้งบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อีกทั้งยังได้ขอบคุณที่ฝ่ายไทยได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเข้ากองทุน ESCAP Multi-Donor Trust Fund for Tsunami, Disaster and Climate Preparedness จำนวน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเสริมสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
 
อนึ่ง คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสาหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) เป็น 1 ใน 5 คณะกรรมาธิการภูมิภาค (regional commissions) ของสหประชาชาติ โดยเป็นเวทีสำหรับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจำนวน 53 ประเทศเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานของเอสแคปเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ