วันที่นำเข้าข้อมูล 15 มิ.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 มิ.ย. 2566
เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๖ นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป ได้จัดการประชุมเกี่ยวกับกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรปกับผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (Directorate-General for the Environment: DG ENV) ของสหภาพยุโรป (อียู) และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบของกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (Regulation on Deforestation-Free Products: EUDR) ของอียูต่อไทย และการเตรียมความพร้อมของฝ่ายไทยต่อมาตรการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยบางประเภท โดยเฉพาะยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางซึ่งไทยมีมูลค่าส่งออกไปยังอียูที่สูง
หน่วยงานฝ่ายไทยที่เข้าร่วมประกอบด้วย กรมยุโรป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ และการยางแห่งประเทศไทย ส่วนฝ่ายอียูประกอบด้วย นาย David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย นาง Astrid Schomaker ตำแหน่ง Director for Green Diplomacy and Multilateralism และผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับผลการศึกษาเบื้องต้นที่จัดทำโดยอียูเกี่ยวกับผลกระทบของ EUDR ต่อไทย การดำเนินการที่ผ่านมาของหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องกับ EUDR การสอบถามในประเด็นที่หน่วยงานไทยสงสัย ตลอดจนการสะท้อนประเด็นความร่วมมือที่ฝ่ายไทยต้องการผลักดันกับฝ่ายอียูเพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสำหรับ EUDR ให้กับภาครัฐและภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะในเรื่องการจัด technical workshops เพื่อสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิคให้เกษตรกรรายย่อยเตรียมความพร้อมอย่างทันท่วงที
กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าจะกำหนดให้บริษัทผู้นำเข้าของอียูที่นำเข้าสินค้า ๗ รายการ ได้แก่ ไม้ วัว โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง และยางพารา จะต้องจัดทำรายงาน หรือ due diligence statement เพื่อยืนยันว่าได้ตรวจสอบสินค้าเหล่านั้นว่า เป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยอียูจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายฯ อย่างเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี ๒๕๖๗
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **