วันที่นำเข้าข้อมูล 8 พ.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ประเทศไทยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) เป็นแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคให้เข้มแข็งและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้นในยุคหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ในเวทีการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ ๗๗ ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ เมษายน ๒๕๖๔ ภายใต้หัวข้อหลัก “การฟื้นฟูจากวิกฤตให้กลับมาดีกว่าเดิมผ่านความร่วมมือระดับภูมิภาคในเอเชียและแปซิฟิก”
นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศและผู้แทนถาวรไทย ประจำเอสแคป กล่าวถ้อยแถลงของไทยต่อที่ประชุมฯ ย้ำถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและครอบคลุมในยุคหลังวิกฤตโควิด-๑๙ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ เสริมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างครอบคลุม การบูรณาการมิติสาธารณสุขในแผนการจัดการภัยพิบัติตามหลักการกรุงเทพ ภายใต้กรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๗๓) รวมทั้งการเสริมสร้างระบบพหุภาคีเพื่อจัดการกับความท้าทายในภูมิภาค
นอกจากนี้ ผู้แทนไทยจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกรมองค์การระหว่างประเทศ ร่วมกับผู้แทนประเทศสมาชิกเอสแคปอีก ๕๒ ประเทศ แลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และแนวทางที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูภูมิภาคจากวิกฤตโควิด-๑๙ และเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตอื่น ๆ ในอนาคต โดยไทยใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการแบ่งปัน แนวทางการพัฒนาของตนเองในภูมิภาคที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยยังเสนอแนวทางการฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิมที่มุ่งเน้นการรักษาความเชื่อมโยง ทั้งทางการค้า เศรษฐกิจ คมนาคม และดิจิทัล การสร้างความสมดุลยั่งยืนให้เกิดขึ้นโดยเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างมาตรการทางสังคมที่ครอบคลุมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยไทยแสดงความพร้อมและย้ำความมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศที่มีความเปราะบาง เช่น ประเทศกำลังพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ทั้งในกรอบความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี
ที่ประชุมเอสแคปรับรองข้อมติเรื่อง “Regional cooperation to build back better from crises in Asia and the Pacific” ซึ่งเป็นข้อมติเพียงฉบับเดียวของการประชุมฯ สมัยนี้ และไทยเป็นผู้เสนอร่างข้อมติ เพื่อผลักดันการเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือในการฟื้นฟูจากวิกฤตให้กลับมาดีกว่าเดิมและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกเอสแคปสนับสนุนความริเริ่มดังกล่าวด้วยดี โดยจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มัลดีฟส์ ปากีสถาน ศรีลังกา และเวียดนาม ร่วมอุปถัมภ์ข้อมติดังกล่าว
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **