ไทยเป็นประธานร่วมจัดกิจกรรมที่สหประชาชาติเพื่อย้ำความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการจัดการกับโควิด-๑๙ และการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดในอนาคต

ไทยเป็นประธานร่วมจัดกิจกรรมที่สหประชาชาติเพื่อย้ำความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการจัดการกับโควิด-๑๙ และการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดในอนาคต

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,116 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และรับมือกับโรคระบาดในอนาคต ในกิจกรรม The Road to 2023: Kickoff to the High-Level Meeting on Universal Health Coverage ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖

เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงเปิด (บันทึกเทปล่วงหน้า) ในกิจกรรมคู่ขนานของกลุ่มประเทศ Group of Friends of Universal Health Coverage and Global Health ภายใต้หัวข้อ “The Road to 2023: Kickoff to the High-Level Meeting on Universal Health Coverage” ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยไทย ญี่ปุ่น และจอร์เจีย ในฐานะประธานร่วมของกลุ่มฯ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่ม UHC2030 โดยมีผู้แทนระดับสูงของประเทศต่าง ๆ องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมเข้าร่วม

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage-UHC) ที่เข้มแข็งเพื่อให้สามารถรับมือกับโรคระบาดได้ดีขึ้น โดยย้ำการดำเนินการสำคัญ ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการเข้าถึงยาและวัคซีนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และทันต่อสถานการณ์ โดยสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก (๒) การแก้ไขปัญหาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ โดยเสริมสร้างกลไกสนับสนุนทางการเงินด้านสุขภาพโลกโดยเน้นการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา และ (๓) การบูรณาการระบบ UHC ในยุทธศาสตร์การรับมือกับโรคระบาดในอนาคต โดยการส่งเสริม UHC ควรเป็นประเด็นสำคัญในการเตรียมพร้อมและรับมือกับความฉุกเฉินทางสาธารณสุขโลกในอนาคต ซึ่งรวมถึงกระบวนการจัดทำตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยโรคระบาด

ในช่วงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมประชุมได้หารือเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อปี ๒๕๖๒ (โดยไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและเป็นหนึ่งในประเทศผู้ประสานงานการเจรจา) และความท้าทายด้านสุขภาพโลกต่าง ๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๖๖ โดยการส่งเสริม UHC เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ ๓ ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าด้วยการมีสุขภาพและการเป็นอยู่ที่ดีภายในปี ๒๕๗๓

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ