รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๔ (WEF2024)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๔ (WEF2024)

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ม.ค. 2567

| 3,966 view

เมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๙ มกราคม ๒๕๖๗ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยนายกรัฐมตรี เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๔ (WEF2024) ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส การประชุม WEF2024 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Rebuilding Trust” เน้นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่ออนาคต ความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม และระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกปัจจุบัน มีประเด็นหารือสำคัญ ๔ ด้าน (workstreams) ได้แก่ (๑) การบรรลุความมั่นคงและความร่วมมือในโลกที่แตกแยก (Achieving security and cooperation in a fractured world) (๒) การสร้างการเติบโตและงานสำหรับยุคใหม่ (Creating growth and jobs for a new era) (๓) ปัญญาประดิษฐ์ในฐานะพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม (AI as a driving force for the economy and society) และ (๔) ยุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และพลังงาน (A long-term strategy for climate, nature and energy) โดยเป็นการประชุมครั้งที่ ๕๔ ได้รับการตอบรับสูง โดยมีผู้เข้าร่วมรวมกว่า ๒,๘๐๐ คน เป็นผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลกว่า ๑๐๐ ประเทศ และเป็นระดับประมุข/ผู้นำรัฐบาลมากกว่า ๕๐ ประเทศ สำหรับไทย การเข้าร่วมการประชุมของคณะผู้แทนไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ถือเป็นการเข้าร่วมในระดับผู้นำครั้งแรกในรอบ ๑๒ ปี (ครั้งสุดท้ายคือเมื่อปี ๒๕๕๕ สมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมด้วย ตามคำเชิญของ WEF นอกจากนี้ ยังนับเป็นการเยือนภูมิภาคยุโรปครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นับแต่เข้ารับตำแหน่งด้วย

ในห้วงของการประชุมข้างต้น รองนายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนาง Mirjana Spoljaric Egger ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross หรือ ICRC) และนาย Mathias Cormann เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) เพื่อหารือในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน อีกทั้งได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนครวามเห็นในกรอบ WEF รวม ๔ รายการ ได้แก่ (๑) การหารือ Diplomacy Dialogue on Myanmar: Preventing a Lost Decade เป็นการหารือเชิงวิชาการกับผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเล็กเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยย้ำถึงบทบาทของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาและการขับเคลื่อนความร่วมมือแบบเชิงรุกและสร้างสรรค์เพื่อสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค (๒) การเสวนา National Action to Advance the Circularity of Plastics ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศและภาคเอกชน เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมการใช้พลาสติกหมุนเวียน (๓) การเสวนา Roundtable on Trade, Climate, and Finance ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อหาแนวทางการใช้นโยบายการค้าและการคลังในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (๔) การเสวนา Informal Gathering of World Economic Leaders (IGWEL) Roundtable: Preventing Economic Fracture ร่วมกับผู้นำ รัฐมนตรี ตลอดจนผู้นำองค์การระหว่างประเทศและภาคเอกชน เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงผู้ช่วยรัฐมตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ร่วมการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้นำภาครัฐและองค์การระหว่างประเทศในห้วงการประชุมดังกล่าวด้วย ได้แก่ นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นาย Alexander De Croo นายกรัฐมนตรีเบลเยียม (ประธานสหภาพยุโรประหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน ๒๕๖๗) สมเด็จฯ Hun Manet นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นาย Tony Blair ประธาน Tony Blair Institute for Global Change (TBI) และอดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และศาสตราจารย์ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร WEF

ในห้วงเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมกิจกรรมในกรอบ WEF รวม ๓ รายการ ได้แก่ (๑) การหารือ Country Strategy Dialogue (CSD) on Thailand เป็นกิจกรรมที่ WEF จัดให้โดยเฉพาะสำหรับนายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายสำคัญของรัฐบาล ตลอดจนแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำและผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมรับฟังด้วย (๒) การหารือ Thailand Landbridge: Connecting ASEAN with the World เป็นกิจกรรมที่ WEF จัดให้โดยเฉพาะสำหรับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอโครงการ Landbridge และแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักลงทุนที่เป็นเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม และ (๓) เวทีเสวนา Learning from ASEAN เป็นกิจกรรมเปิด (Public Session) ที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมการประชุมสามารถรับฟังได้และมีการถ่ายทอดสดทาง Platform ของ WEF โดยนายกรัฐมนตรีได้นำเสนอมุมมองของไทยต่ออาเซียนและแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับศักยภาพของอาเซียน ร่วมกับผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ประธานสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ และผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก และมีนางสาว Julia Chatterley ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว CNN เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับผู้นำภาคเอกชนชั้นนำจากทั่วโลกอีกรวม ๑๓ นัดหมาย

WEF เป็นองค์การระหว่างประเทศด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๔ มี Professor Klaus Schwab (สัญชาติเยอรมัน) เป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร และมีนาย Børge Brende (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์) เป็นประธานคนปัจจุบัน สมาชิกของ WEF เป็นบริษัทชั้นนำทั่วโลกจากหลากหลายสาขากว่า ๑,๐๐๐ บริษัท รวมถึงบริษัทไทย ๑๐ บริษัท ได้แก่ ปตท. เครือเจริญโภคภัณฑ์ ไทยเบฟเวอเรจ ปูนซีเมนต์ไทย อินโดรามา บางจาก ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย SCB X (กลุ่มไทยพาณิชย์) และ Bitkup ทั้งนี้ WEF เป็นที่รู้จักมากที่สุดจากการประชุมประจำปี (WEF Annual Meeting) ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและหารือ ระหว่างผู้นำจากภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ เอกชน และภาคประชาสังคม ในบรรยากาศที่ใกล้ชิดและตรงไปตรงมา

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ