อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียน เกาหลีใต้และออสเตรเลียในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังยุคโควิด-๑๙

อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียน เกาหลีใต้และออสเตรเลียในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังยุคโควิด-๑๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 6,499 view

อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเข้าร่วมอภิปรายความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้หัวข้อหลักการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในงานเสวนาทางวิชาการ The Republic of Korea (ROK) – Australia Forum on support for Southeast Asia and ASEAN (“Building Vaccine Cooperation, Capacity and Security for Post-COVID-19 Recovery”) ผ่านระบบวีดิทัศน์ ซึ่งร่วมจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเข้าร่วมงานเสวนาทางวิชาการ The Republic of Korea (ROK) – Australia Forum on Support for Southeast Asia and ASEAN ในหัวข้อ Building Vaccine Cooperation, Capacity and Security for Post-COVID-19 Recovery จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ และกระทรวงการการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจระหว่างเกาหลีใต้และออสเตรเลียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus - NSPP) ของเกาหลีใต้ และวิสัยทัศน์ของออสเตรเลียต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework: ACRF)

ในโอกาสนี้ อธิบดีเอเชียตะวันออกได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างไทย ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา เช่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และออสเตรเลีย เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) โดยได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์และการให้ความช่วยเหลือเชิงวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพการรับมือกับโรคระบาดผ่านโครงการความร่วมมือไตรภาคี (๒) การร่วมกันส่งเสริมการค้า/การลงทุนระหว่างประเทศผ่านความร่วมมือพหุภาคี โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีอยู่และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งหวังว่าจะมีผลใช้บังคับโดยเร็ว และส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมถึงความเชื่อมโยงทางข้อมูล/ระบบซอฟต์แวร์ ด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะ และเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งทวีความสำคัญในยุคโควิด-๑๙ และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) ผ่านกลไกจตุภาคีที่ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน เพื่อการเจริญเติบโตที่สมดุลและยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางการดำเนินนโยบายในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ และการรับมือกับโรคระบาด โดยผู้ร่วมอภิปรายมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศผ่านความร่วมมือพหุภาคี และการส่งเสริมความเชื่อมโยงโดยเฉพาะด้านดิจิทัลและการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ