วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
รัฐบาลไทยพิจารณาเสนอชื่อ ดร. วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นผู้สมัครของไทยสำหรับตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission – ILC) วาระปี ๒๕๖๖-๒๕๗๐ โดยการเลือกตั้งตำแหน่งดังกล่าวจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖ ที่นครนิวยอร์ก
ที่ผ่านมา ไทยสนับสนุนระบบพหุภาคีที่อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการได้รับประโยชน์ร่วมกันของมวลมนุษยชาติ และเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่ากฎหมายระหว่างประเทศเป็นเสาหลักที่สำคัญในการรักษาสันติภาพของโลกและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจที่จะเสนอผู้สมัครของไทยเข้ารับเลือกตั้งในตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง โดย ดร. วิลาวรรณฯ เป็นผู้สมัครสตรีคนแรกของไทยในตำแหน่งดังกล่าว และหากได้รับการเลือกตั้ง ดร. วิลาวรรณฯ จะเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศสตรีคนแรกของไทยและอาเซียนที่ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ
ตลอดระยะเวลา ๒๕ ปีในการทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ดร. วิลาวรรณฯ ได้เข้าร่วมการเจรจาและประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญหลายเวที โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนและความตกลงการค้าเสรีของไทย และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันมุมมองและรักษาผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิรูปกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุนในกรอบของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ และการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ดร. วิลาวรรณฯ ยังให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องการระงับข้อพิพาททางเลือกและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากงานด้านการทูตและที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของรัฐบาลไทย ดร. วิลาวรรณฯ ยังได้รับเชิญไปบรรยายวิชากฎหมายระหว่างประเทศในหัวข้อต่าง ๆ ให้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำ รวมถึงเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
ในฐานะผู้สมัครตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ ดร. วิลาวรรณฯ มองว่า คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศควรให้ความสำคัญกับหัวข้อที่เป็นเรื่องห่วงกังวลเร่งด่วนของประชาคมระหว่างประเทศซึ่งรวมถึงเรื่องการเพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเล และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ดร. วิลาวรรณฯ เห็นว่า ควรมีการผลักดันหัวข้อที่อยู่ในแผนงานระยะยาวของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อบทเรื่องการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมในกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศในกรณีที่องค์การระหว่างประเทศเป็นคู่พิพาท
อนึ่ง คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ILC) จัดตั้งขึ้นในปี ๒๔๙๐ เพื่อสนับสนุนการทำงานของสมัชชาสหประชาชาติในการริเริ่มการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศและการประมวลกฎหมายระหว่างประเทศตามข้อ ๑๓ (๑) (เอ) ของกฎบัตรสหประชาชาติ ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศประกอบด้วยสมาชิก ๓๔ คน จาก ๕ ภูมิภาค และ ดารงตาแหน่งวาระละ ๕ ปี ซึ่งผู้สมัครของไทยถือว่าอยู่ในสัดส่วนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีที่ว่าง ๘ ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยมีนักกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่รู้จักของไทยดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว ๓ ท่าน ได้แก่ ดร. ถนัด คอมันตร์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (๒๕๐๐-๒๕๐๒) ดร. สมปอง สุจริตกุล (๒๕๒๐-๒๕๒๙) และ ดร. เกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี (๒๕๕๕-๒๕๕๙)
--------------------
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **