รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้งที่ ๑๙ ณ กรุงกัมปาลา สาธารณรัฐยูกันดา

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้งที่ ๑๙ ณ กรุงกัมปาลา สาธารณรัฐยูกันดา

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ม.ค. 2567

| 3,942 view

ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ ม.ค. ๒๕๖๗ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) ครั้ง ๑๙  ที่กรุงกัมปาลา สาธารณรัฐยูกันดา และได้เข้าร่วมพิธีเปิด โดยมีผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิก ประเทศผู้สังเกตการณ์ และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม

ในพิธีเปิดการประชุม นาย Jeyhun Bayramov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานและประธานกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ได้กล่าวเปิดการประชุม ก่อนส่งมอบตําแหน่งประธานกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและประธานการประชุมสุดยอดฯ ครั้งที่ ๑๙ ให้นาย Yoweri K. Museveni ประธานาธิบดีสาธารณรัฐยูกันดา  ในโอกาสนี้ นาย Salvador Valdes Mesa รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐคิวบา ในฐานะประธาน กลุ่ม G77 และจีน และนายเดนนิส ฟรานซิส ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๘ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในช่วงพิธีเปิดด้วย

ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๗ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมในหัวข้อ “Deepening Cooperation for Shared Global Affluence” เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ NAM และการเคารพหลักการบันดุง เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยิ่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการรักษาสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐมนตรีช่วยฯ ได้ขอรับการสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๕-๒๐๒๗ ด้วย

ในโอกาสนี้ ยังได้กล่าวเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น กรณีสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ได้ย้ำว่าไทยเรียกร้องให้มีการหาทางออกโดยสันติและการหยุดยิงอย่างถาวร และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันที่เหลือทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยทันที ในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐมนตรีช่วยฯ แสดงความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุนการทำงานของลาวในฐานะประธานของอาเซียน เพื่อส่งเสริมการหาทางออกอย่างสันติต่อสถานการณ์ในเมียนมา และแจ้งด้วยว่าไทยอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยเมื่อรัฐมนตรีช่วยฯ กล่าวถ้อยแถลงจบ ได้เข้าไปแสดงความยินดีต่อการเป็นประธาน NAM ของยูกันดา กับพลเอก โอดองโก เจเจ อะบูบะกัร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐยูกันดาด้วย

NAM ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๖๐ ขณะที่โลกอยู่ในยุคสงครามเย็น การประชุมสุดยอดระดับผู้นำจัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย เมื่อปี ๒๕๐๔ (ค.ศ. ๑๙๖๑) ปัจจุบัน NAM มีประเทศสมาชิกทั้งหมด ๑๒๑ ประเทศ โดยสาธารณรัฐซูดานใต้เข้าเป็นสมาชิกล่าสุดในช่วงการประชุมสุดยอด NAM ครั้งที่ ๑๙ ที่ผ่านมา ไทยเข้าเป็นสมาชิก NAM เมื่อ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๖ (ค.ศ. ๑๙๙๓) และส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ต่าง ๆ ของกลุ่มฯ มาโดยตลอด

 

อ่านถ้อยแถลงฉบับเต็มได้ที่นี่

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ