การประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี ครั้งที่ ๘ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

การประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี ครั้งที่ ๘ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.พ. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ก.พ. 2566

| 8,032 view

เมื่อวันที่ ๘ - ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้รับมอบหมายจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี ครั้งที่ ๘ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์การประชุมนครแอดิเลด ออสเตรเลีย โดยมี พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายพืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมในคณะผู้แทนไทยด้วย

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีของการจัดตั้งกระบวนการบาหลีว่าด้วยการลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง โดยมีนางสาวเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย และนางเริตโน เล็ซตารี ปรียันซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เป็นประธานร่วมของการประชุมฯ และมีผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกกระบวนการบาหลี ๓๖ ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ ๔ องค์การ

ที่ประชุมได้หารือกันเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินงานของกระบวนการบาหลีในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ในภูมิภาค และแนวทางการร่วมมือกันในอนาคต โดยได้รับรอง 2023 Adelaide Strategy for Cooperation ซึ่งมีแผนงานสำคัญ ๘ ด้าน ได้แก่ (๑) การบังคับใช้กฎหมาย (๒) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (๓) การแบ่งปันข้อมูลและการสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชน (๔) การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติและอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง (๕) การบริหารจัดการชายแดน (๖) การคุ้มครองผู้เสียหายและการจัดการการโยกย้ายถิ่นฐาน (๗) การเดินทางกลับและการคืนกลับเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และ (๘) การประสานงานและการสนับสนุนการรับมือกับประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ในภูมิภาค

ในโอกาสนี้ คณะผู้แทนไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกกระบวนการบาหลีในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบขนคน อาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาค โดยเสนอให้ (๑) ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์ที่เกี่ยวข้องโดยใช้เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ ซึ่งเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่หลายประเทศในภูมิภาคได้รับผลกระทบ (๒) พัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ (๓) ส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในกระบวนการสืบสวน สอบสวน และการระบุตัวผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (๔) สร้างความตระหนักรู้และความรู้เท่าทันของประชาชน และ (๕) ร่วมมือกับผู้ให้บริการ technology platforms ซึ่งมีบทบาทสำคัญในป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจของกระบวนการบาหลี (Bali Process Government and Business Forum: GABF) ครั้งที่ ๓ โดยได้ย้ำความสำคัญของบทบาทของภาคเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และแรงงานเด็กผ่านการส่งเสริมความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน แนวทางการจัดหางานที่มีคุณธรรม และการเยียวยาแรงงาน อีกทั้งได้แสดงความชื่นชมบทบาท GABF ในการจัดการหารือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจเฉพาะสาขาที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจต่อสถานการณ์และความท้าทายที่เฉพาะเจาะจงของภาคธุรกิจแต่ละสาขา และหาทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

กระบวนการบาหลีซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๕ เป็นหนึ่งใน Regional Consultative Process on Migration (RCPs) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อจัดการการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอำนวยการ ๔ ประเทศ ร่วมกับออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และนิวซีแลนด์

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ