กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศจัดการสัมมนา “ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศ”

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศจัดการสัมมนา “ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศ”

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ก.ค. 2565

| 12,068 view

เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaty: BIT) ได้จัดการสัมมนา “ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศ” ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานเกี่ยวกับ BIT และกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) โดยนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยอาจารย์ ดร. อำนาจ ตั้งคีรีพิมาร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้แทนจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศและกรมสนธิสัญญาและกฎหมายร่วมเป็นวิทยากร และมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น ๑๔๐ คน จาก ๔๐ หน่วยงานภาครัฐ

BIT และกลไก ISDS มีส่วนช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการคุ้มครองนักลงทุนไทยในต่างแดน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภาคเอกชนไทยออกไปลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้น นักลงทุนสามารถบังคับใช้พันธกรณีภายใต้ BIT เช่น หน้าที่ในการประติบัติต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม (fair and equitable treatment) และการไม่เลือกประติบัติ (non-discrimination treatment) ผ่านกลไก ISDS ได้ และโดยที่กลไก ISDS ถูกใช้ในการฟ้องร้องรัฐบาลของประเทศ
ต่าง ๆ UNCITRAL Working Group III ซึ่งอยู่ภายใต้ UN จึงได้รับอาณัติให้พิจารณาปฏิรูปกลไกดังกล่าวให้มีความสมดุลและมีความโปร่งใสมากขึ้น

ในช่วงการสัมมนา ผู้เข้าร่วมการสัมมนาให้ความสนใจแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับพันธกรณีภายใต้ BIT ที่หน่วยงานควรตระหนักถึงในการออกมาตรการต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เช่น การออกมาตรการเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทำผิดพันธกรณี นอกจากนี้ ผู้แทนของหน่วยงานต่าง ๆ ยังแสดงความสนใจการปฏิรูปกลไก ISDS และทิศทางการจัดทำ BIT ในปัจจุบัน ซึ่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่เชิงนโยบายสำหรับออกมาตรการเพื่อสาธารณประโยชน์มากขึ้น การสัมมนาฯ ครั้งนี้ จึงเป็นประโยชน์ในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและช่วยให้สามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้ BIT ต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ