การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 ก.ค. 2566

| 15,983 view

เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ (BIMSTEC Retreat) เป็นครั้งแรกที่กรุงเทพ โดยประเทศสมาชิกบิมสเทคทั้ง ๗ ประเทศ ได้แสดงความมุ่งมั่นอีกครั้งหนึ่งที่จะเสริมสร้างให้บิมสเทคเป็นประชาคมที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ในโอกาสนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมดังกล่าวและประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคได้ชื่นชมว่าการประชุมฯ ครั้งนี้เป็นประโยชน์ และเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความเห็นต่าง ๆ อย่างเป็นกันเอง รวมทั้งเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะส่งเสริมให้กรอบการดำเนินงานและกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ของบิมสเทคมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อความเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของภูมิภาค นอกจากนี้ ได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกันด้วย

ประเทศสมาชิกเห็นพ้องร่วมกันถึงความสำคัญของการสร้างกลไกในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เพื่อประสานงานในภาวะฉุกเฉินตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และได้หารือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข พลังงาน และการเงิน รวมถึงความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาที่จะจัดตั้งระบบการชำระเงินดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิกบิมสเทค รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคได้ย้ำถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการประสานงานในประเด็นระดับโลกและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหประชาชาติ ประกอบด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าบิมสเทค เทคโนโลยีด้านการเกษตร ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนเยาวชน และการฝึกอบรมด้านการทูต

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทครู้สึกยินดีเมื่อได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดตั้ง
คณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต เพื่อกำหนดแผนดำเนินการขององค์กร บนพื้นฐานของผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศสมาชิกและประชาชน

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมฯ อย่างไม่เป็นทางการ เป็นประจำ โดยหากเป็นไปได้ จะจัดในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี ทั้งนี้ อินเดียได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทคครั้งต่อไปในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเดือนกันยายน ๒๕๖๖

ทั้งนี้ ไทยเป็นประธานบิมสเทคหรือกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) วาระปี ๒๕๖๕ - ๒๕๖๖ ภายใต้แนวคิดการเสริมสร้างบิมสเทคสู่การเป็นภูมิภาคที่มั่งคั่ง (Prosperous) ยั่งยืน ฟื้นคืน (Resilient) และเปิดกว้าง (Open) หรือ “PRO BIMSTEC” ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ