การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศทุก ๆ 2 ปี ระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศทุก ๆ 2 ปี ระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ธ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 ธ.ค. 2567

| 1,204 view

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมกับนางสาวเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศออสเตรเลีย ในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศทุก ๆ 2 ปี ระหว่างประเทศไทยกับออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 ณ ทำเนียบผู้สำเร็จราชการประจำรัฐเซาท์ออสเตรเลีย นครแอดิเลด โดยมีนางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมฯ ด้วย ทั้งนี้ ผู้สำเร็จราชการฯ ได้ให้การต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนำเข้าร่วมพิธีการต้อนรับโดยชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลีย

ในโอกาสดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความยินดีกับพัฒนาการความร่วมมือไทย-ออสเตรเลียได้แก่ (1) การหารือทวิภาคีด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงกิจการภายในออสเตรเลียเห็นพ้องที่จะจัดขึ้นร่วมกันเป็นครั้งแรก (2) บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กับหน่วยงาน Export Finance Australia ซึ่งมีแผนจะลงนามภายในเดือนธันวาคม 2567 (3) ออสเตรเลียประกาศสนับสนุนงบประมาณจำนวน 222.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย สำหรับโครงการ Mekong-Australia Partnership ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งด้านการฝึกอบรม การบริหารจัดการน้ำ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ (4) ออสเตรเลียสนับสนุนให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม OECD Southeast Asia Regional Programme และ (5) ออสเตรเลียจะร่วมมือกับไทยเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเกษตร อาหาร ยา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศออสเตรเลียได้ร่วมหารือเกี่ยวกับพลวัตความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรเลียในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยยินดีกับการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ค.ศ. 2022-2025 ทั้งนี้ โดยที่แผนปฏิบัติการร่วมฯ จะครบวาระในปี 2568 นี้ ทั้งสองฝ่ายจึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมสานต่อพลวัตและขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันให้มีความเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งครอบคลุมถึง

(1) ด้านความมั่นคง ฝ่ายไทยได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายที่จะส่งเสริมความมั่นคงในสามด้าน ได้แก่ความมั่นคงของมนุษย์ อาหาร และพลังงาน ซึ่งฝ่ายออสเตรเลียเห็นพ้องและยินดีที่จะร่วมมือกับไทยโดยคำนึงถึงศักยภาพที่มีร่วมกันในฐานะที่ทั้งสองฝ่ายต่างเชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข เทคโนโลยีการเกษตร และพลังงานสะอาด

(2) ด้านเศรษฐกิจ ไทยและออสเตรเลียมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจที่สามารถปรับตัวกับความท้าทายรูปแบบต่าง ๆ

(3) ด้านการเกษตร โดยคำนึงถึงศักยภาพของไทยด้านที่ตั้งยุทธศาสตร์ และความเชี่ยวชาญของออสเตรเลียด้านการเพิ่มและรักษาผลิตภาพของสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ จึงประสงค์จะร่วมมือกันเพื่อเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือที่จะแลกเปลี่ยนบุคลากรและองค์ความรู้ด้านการเกษตรกับไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระดับทวิภาคีและพหุภาคีอีกด้วย

(4) ด้านการศึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หยิบยกเกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษาในฐานะพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงได้เชิญชวนให้ฝ่ายออสเตรเลียพิจารณาเพิ่มพูนการลงทุนร่วม ในธุรกิจการศึกษาต่อไป

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ บทบาทของอาเซียน และยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างไทยกับออสเตรเลียสำหรับหมู่เกาะแปซิฟิก และความร่วมมือในกรอบพหุภาคี อาทิ OECD BRICS อีกด้วย

ก่อนหน้าการประชุมฯ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศออสเตรเลียได้นำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชมสถาบัน Australian Institute for Machine Learning (AIML) ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โดยเน้นประโยชน์ด้านพลังงาน การจัดการข้อมูล และการคำนวณ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ