ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๓๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยผลักดันการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน - สหรัฐฯ ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือและฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ และการส่งเสริมความร่วมมือและ"การลงมือทำ" ๓ ประการในด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๓๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยการประชุมดังกล่าว มีนาย Bounleua Phandanouvong รองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว (ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ) และนาย Atul Keshap รองอธิบดีอาวุโส กิจการเอเชียแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นประธานร่วม และมีเจ้าหน้าที่อาวุโส/ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนเข้าร่วมด้วย
ที่ประชุมฯ หารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ในทุกมิติ โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือในการรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ซึ่งสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนแล้วเป็นเงินกว่า ๑๑๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งมีแผนผลักดันการกระจายวัคซีนผ่านกลไก COVAX และการขยายกำลังการผลิตวัคซีนร่วมกับกลุ่มภาคี Quad นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้เน้นย้ำความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การฟื้นฟูสีเขียวและการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ และการพัฒนาทุนมนุษย์
ที่ประชุมฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยย้ำความสำคัญของความร่วมมือพหุภาคีและบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริสให้ความสำคัญกับอาเซียน และสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน รวมถึงหลักการต่าง ๆ ภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก อีกทั้งประสงค์ที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วย
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวนำภายใต้หัวข้อ “สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยเสนอให้มีการส่งเสริมความร่วมมือและการ “ลงมือทำ” (actions) ใน ๓ เรื่อง ได้แก่ (๑) การบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการดำเนินการมาตรการต่าง ๆ (๒) การส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้สหรัฐฯ ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอาเซียน และ (๓)การส่งเสริมความสมดุลระหว่างมษุษย์และธรรมชาติ โดยเสนอโมเดล BCG เป็นแนวทางการดำเนินการ และศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน
การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสในการกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ภายใต้บริบทของความท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาค และนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษที่คาดว่าจะจัดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ด้วย