ปลัดกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่นในด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืนและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๓๖

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่นในด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืนและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๓๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,791 view

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่นภายใต้หลัก 3Rs ได้แก่ “Recovery” การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “Resilience” การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ รวมทั้งการดำเนินการตามรูปแบบเศรษฐกิจ BCG และ “Relationship” การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน การพัฒนาทุนมนุษย์ ความร่วมมือด้านการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาสังคมสูงวัยที่มีศักยภาพ ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๓๖
 
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๓๖ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายโมริ ทาเคโอะ (H.E. Mr. Mori Takeo) รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุม 
 
ที่ประชุมฯ หารือถึงพัฒนาการความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นในมิติต่าง ๆ อาทิ การรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม โดยญี่ปุ่นยืนยันการสนับสนุนเงินจำนวน ๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) และจะประกาศแผนการจัดกิจกรรมและโครงการตามสาขาความร่วมมือภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) ประกอบด้วย ความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยงระหว่างกัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความร่วมมือในกรอบอื่น ๆ ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๔ ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ อีกด้วย
 
ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ระหว่างเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ – ๒๕๖๗ ไทยผลักดันความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ภายใต้หลัก 3Rs ประกอบด้วย “Recovery” โดยการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “Resilience” โดยการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ และไทยเชิญให้ญี่ปุ่นแสวงหาความร่วมมือในการดำเนินการตามรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) กับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ของญี่ปุ่น อีกทั้งเชิญชวนให้ร่วมมือผ่านศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue : ACSDSD) ในไทย และ “Relationship” โดยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน การพัฒนาทุนมนุษย์ ความร่วมมือด้านการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาสังคมสูงวัยที่มีศักยภาพ โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI) ในไทย
 
นอกจากนี้ ฝ่ายอาเซียนและญี่ปุ่นได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี และสถานการณ์ในเมียนมา

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ