รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำส่งเสริมความเชื่อมโยงอาเซียน ในการสัมมนา Connecting the Connectivities: Synergy through Enhanced Partnership

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำส่งเสริมความเชื่อมโยงอาเซียน ในการสัมมนา Connecting the Connectivities: Synergy through Enhanced Partnership

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,980 view

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสำคัญของความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน และกับภาคีภายนอก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ และสร้างอนาคตที่เข็มแข็งและยั่งยืนของภูมิภาค ในการเปิดการสัมมนา "Connecting the Connectivities: Synergy through Enhanced Partnership"

เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับธนาคารโลก และสำนักเลขาธิการอาเซียน จัดการสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Connecting the Connectivities: Synergy through Enhanced Partnership” ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในช่วงพิธีเปิดการสัมมนาฯ ร่วมกับนาย Kung Phoak รองเลขาธิการอาเซียน ด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และนาย Ranjit Lamech ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก) ธนาคารโลก

ในช่วงการเปิดการสัมมนาฯ นายชุตินทรฯ ได้ย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกอาเซียนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาครวมถึงการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ ผ่านการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (MPAC 2025) รวมถึงกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework: ACRF) บนหลักการมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific - AOIP)

นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอแนวทางความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงที่สอดคล้องกับ MPAC 2025 ได้แก่ (๑) การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาโลจิสติกส์ไร้รอยต่อ และการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (๒) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการรวมตัวด้านดิจิทัลในอาเซียน รวมทั้งความสำคัญในการพัฒนา ASEAN Digital Hub และ Digital Park Thailand ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และความเชื่อมโยงด้านธุรกรรมทางการค้าดิจิทัลในอาเซียน และ (๓) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว โครงข่ายเมืองอัจฉริยะของอาเซียน ตามแนวทาง SDGs รวมทั้งการใช้รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Economy Model ของไทย

ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ สนับสนุนแนวทาง Connecting the Connectivities ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการสอดประสานระหว่าง MPAC 2025 และข้อริเริ่มการเชื่อมโยงในภูมิภาคต่าง ๆ โดยมีข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม เช่น (๑) การจัดตั้ง ASEAN Digital Trade Platform เพื่อส่งเสริมการทำการค้าแบบไร้กระดาษ (๒) การพัฒนา Multimodal Transport ในภูมิภาค เพื่อลดผลกระทบจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (๓) การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและดิจิทัลในภูมิภาคเพื่อรองรับกับเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ผลลัพธ์จากการสัมมนาฯ จะเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมของอาเซียน อาทิ การประชุมประสานงานด้านความเชื่อมโยงของอาเซียน การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน รวมทั้งการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ