นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญของการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนา การสนับสนุนงานอาสาสมัคร และการเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและรับผิดชอบร่วมกัน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ ๑๑

นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญของการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนา การสนับสนุนงานอาสาสมัคร และการเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและรับผิดชอบร่วมกัน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ ๑๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,720 view

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ ๑๑ โดยเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติ ผ่านการจัดลำดับความสำคัญเป้าหมายและยุทธศาสตร์การการพัฒนา การสนับสนุนงานอาสาสมัครผ่านความร่วมมือใต้-ใต้ และการเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและรับผิดชอบร่วมกันกับภาคเอกชน

เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ ๑๑ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗ โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วม

โดยคำนึงว่า ปีนี้เป็นปีครบรอบ ๗๕ ปีของการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ และครบรอบ ๒๐ ปีของการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ไทยได้เสนอ ๓ สาขาความร่วมมือที่สหประชาชาติจะสามารถทำงานร่วมกับอาเซียนได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ได้แก่ (๑)การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาใหม่ (๒) การสนับสนุนอาสาสมัครโดยเชื่อมโยงกับความร่วมมือใต้-ใต้และความร่วมมือแบบไตรภาคี และ (๓) การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและมีความรับผิดชอบร่วมกันกับภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ

นอกจากนี้ ไทยได้ย้ำความสำคัญของการดำเนินการตามข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ (Complementarities Initiative) และบทบาทของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย ทั้งนี้ เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวตอบโดยเห็นด้วยกับไทยและแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนอาเซียนด้านความร่วมมือใต้-ใต้และความร่วมมือไตรภาคี

ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อการดำเนินการตามปฏิญญาว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๓ และแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๘ รวมทั้งได้หารือประเด็นต่าง ๆ ของภูมิภาคและระหว่างประเทศที่ทุกฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน อาทิ ความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับผลกระทบของโควิด-๑๙ การเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยม วาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง  ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การรับมือกับภัยพิบัติ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และสถานการณ์ในรัฐยะไข่

 

------------

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ