วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ต.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ ๑๘ สนับสนุนแนวทาง “มองไปข้างหน้า” ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเข้าถึงยาและวัคซีนต้านโควิด-๑๙ การส่งเสริมความเชื่อมโยง และการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ในฐานะปัจจัยส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่กว้างขวางขึ้น
เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ ๑๘ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย เข้าร่วมการประชุมด้วย
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอินเดียเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ อาทิ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลและเศรษฐกิจภาคทะเล การพัฒนาด้านดิจิทัลและไอซีที และความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมถึงความเชื่อมโยงในระดับประชาชน ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้ประกาศให้ปี ๒๕๖๕ เป็น “ปีแห่งมิตรภาพระหว่างอาเซียน-อินเดีย” เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยอินเดียยืนยันสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และข้อริเริ่มมหาสมุทรอินโด-แปซิฟิกของอินเดีย โดยที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อินเดีย ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค เพื่อเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต
นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้อาเซียนและอินเดียร่วมกันสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนให้คนรุ่นหลังด้วยการ “มองไปข้างหน้า” ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันใน ๓ ประเด็น ได้แก่ (๑) การเข้าถึงวัคซีนและยาต้านโควิด-๑๙ โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนกับอินเดียร่วมกันวิจัย พัฒนา และผลิตยาและวัคซีนในภูมิภาค รวมถึงประสานความร่วมมือในการสำรองวัคซีนและเวชภัณฑ์ เพื่อสร้างขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในภูมิภาคในระยะยาว (๒) การส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลักดันโครงการทางหลวงสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย และส่วนขยายไปยัง สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงแสวงหาโอกาสทางการค้าในสาขาใหม่ ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์อินทรีย์ และอายุรเวท ตลอดจนการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นแนวทางในการสนับสนุนการฟื้นฟูภูมิภาคจากโควิด-๑๙ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างอาเซียนกับอินเดีย เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่กว้างขวางขึ้นด้วย
----------------
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **