รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ออสเตรเลีย โดยย้ำความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-ออสเตรเลีย และผลักดันความร่วมมือในการรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและวัคซีน และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ออสเตรเลีย ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยเฉพาะเชื้อที่กลายพันธุ์ และแนวทางการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมภายหลังโควิด-๑๙ โดยอาเซียนยินดีที่ออสเตรเลียสนับสนุนข้อริเริ่มต่าง ๆ ของอาเซียน และได้ประกาศโครงการ ASEAN-Australia One Health Fellowship Programme เพื่อมอบทุนการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของอาเซียน และข้อริเริ่ม ‘Australian Science and Technology for Climate Partnerships initiative’ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติและการค้ามนุษย์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และความเชื่อมโยงในภูมิภาค เป็นต้น
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญของออสเตรเลียในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในการร่วมกันเสริมสร้างให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพ สันติภาพและมั่งคั่ง และฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาวัคซีน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนให้ออสเตรเลียร่วมกันแสวงหาความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ผ่านความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น ด้านพลังงานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเน้นการออกแบบหมุนเวียนสำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกเพื่อส่งเสริมโซ่อุปทานสีเขียวและลดปริมาณขยะ รวมถึงการเสริมสร้างความตระหนักรู้และค่านิยมสีเขียวแก่เยาวชน
ทั้งนี้ การที่ออสเตรเลียสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาคและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน (win-win) ซึ่งรวมถึงภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) จะช่วยขับเคลื่อนและยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป