ไทยเข้าร่วมการประชุม ASEAN Regional Forum Inter-Sessional Meeting on Counter-Terrorism and Transnational Crime (ARF ISM on CTTC) ครั้งที่ ๒๐ ณ เมืองฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย

ไทยเข้าร่วมการประชุม ASEAN Regional Forum Inter-Sessional Meeting on Counter-Terrorism and Transnational Crime (ARF ISM on CTTC) ครั้งที่ ๒๐ ณ เมืองฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 พ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 พ.ค. 2567

| 2,917 view

นายพลพงศ์ วังแพน อธิบดีกรมอาเซียน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ASEAN Regional Forum Inter-Sessional Meeting on Counter-Terrorism and Transnational Crime (ARF ISM on CTTC) ครั้งที่ ๒๐ เมื่อวันที่ ๒ – ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ณ เมืองฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย โดยมีสหรัฐอเมริกา บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์ เป็นประธานร่วม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ

ที่ประชุมได้หารือเพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานภายใต้แผนงาน ARF Work Plan on Counter-Terrorism and Transnational Crime ค.ศ. ๒๐๒๔-๒๐๒๖ ใน ๔ สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (๑) ยาเสพติด (๒) การป้องกันเคมี ชีวะ รังสี นิวเคลียร์ (๓) การป้องกันและต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และ (๔) การค้ามนุษย์ โดยได้เน้นความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านการบังคับใช้กฎหมาย การแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดี การพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเพื่อป้องปรามและสืบสวนสอบสวนการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ ภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีโดยตัวแสดงที่มิใช่รัฐ และการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยอันตรายสู่สาธารณชนและกลุ่มเยาวชน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมอาเซียน ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวความเชื่อมโยงระหว่างงานของกรอบ ARF ISM on CTTC ในสาขาการป้องกันเคมี ชีวะ รังสี นิวเคลียร์ (คชรน.) กับกรอบ ARF ISM on Non-Proliferation and Disarmament (NPD) ซึ่งไทยทำหน้าที่ประธานร่วมกับสหรัฐฯ และศรีลังกา มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ โดยอธิบดีกรมอาเซียนเห็นว่า ทั้งสองกรอบมีความสอดคล้องและเกื้อกูลกันอย่างมาก และมีเป้าหมายเดียวกันในการป้องกันมิให้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและวัสดุที่เกี่ยวข้องตกไปอยู่ในมือผู้ไม่หวังดี จึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องผลักดันการแลกเปลี่ยนและประสานงานระหว่างทั้งสองกรอบให้ใกล้ชิดและครอบคลุมยิ่งขึ้น

ARF เป็นกลไกสำคัญที่อาเซียนมีบทบาทนำในการหารือกันในประเด็นการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเป็นเวทีให้ผู้เข้าร่วมทั้ง ๒๗ ประเทศ/องค์กร หารืออย่างสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (confidence building measures) และการทูตเชิงป้องกัน (preventive diplomacy) ในภูมิภาค ARF ประกอบด้วย ๕ สาขาความร่วมมือหลัก ได้แก่ การบรรเทาภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางทะเล ความมั่นคงของและในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งล้วนเป็นสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ