ไทยจัดการประชุม ASEAN Regional Forum Inter-Sessional Meeting on Non-Proliferation and Disarmament (ARF ISM on NPD) ครั้งที่ ๑๓

ไทยจัดการประชุม ASEAN Regional Forum Inter-Sessional Meeting on Non-Proliferation and Disarmament (ARF ISM on NPD) ครั้งที่ ๑๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 เม.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 เม.ย. 2565

| 2,159 view

เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๕ ไทยในฐานะเจ้าภาพหลัก ร่วมกับสหรัฐอเมริกาและศรีลังกาจัดการประชุม ASEAN Regional Forum Inter-Sessional Meeting on Non-Proliferation and Disarmament (ARF ISM on NPD) ครั้งที่ ๑๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยในช่วงเปิดการประชุมฯ นางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน ได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำบทบาทนำเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการทำงานกับภาคีภายนอกเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันให้เกิดการหารืออย่างสร้างสรรค์และความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในกรอบ ARF ได้แก่ (๑) การให้ความสำคัญแก่สามเสาหลักของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) อย่างเท่าเทียม (๒) การปฏิบัติตามสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ (๓) ความสอดคล้องและเสริมกันของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์และสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (๔) การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติควบคู่ไปกับการรักษาความปลอดภัย ความมั่นคง และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ความร่วมมือในระดับภูมิภาค อาทิ ASEAN Network of Regulatory Bodies on Atomic Energy (ASEANTOM) ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในด้านดังกล่าว และ (๕) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือในด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความเห็นในการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและประเด็นความท้าทายต่อระบอบการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และการลดอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ อาทิ การเตรียมการสำหรับการประชุมทบทวน NPT ครั้งที่ ๑๐ การลงนามในพิธีสารแนบท้ายของสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ สถานการณ์ในยูเครน สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี เทคโนโลยีนิวเคลียร์สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน และบทบาทของเยาวชนในด้านการลดอาวุธ

ARF เป็นกลไกสำคัญที่อาเซียนมีบทบาทนำในการหารือประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเป็นเวทีให้ ๒๗ สมาชิก หารืออย่างสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (confidence building measures) และการทูตเชิงป้องกัน (preventive diplomacy) ในภูมิภาค ทั้งนี้ ARF ประกอบด้วย ๕ สาขาความร่วมมือหลัก ได้แก่ การบรรเทาภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางทะเล การลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ และความมั่นคงและในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งล้วนเป็นสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยไทยดำรงตำแหน่งประธานร่วมกับสหรัฐฯ และศรีลังกา ใน ARF ISM on NPD สำหรับวาระปี ค.ศ. ๒๐๒๒ - ๒๐๒๔

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ