กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศจัดการเสวนาเอเปค (APEC Symposium) เพื่อระดมสมอง​ระหว่างภาครัฐ เอกชนและวิชาการเกี่ยวกับวาระการ​เจ้าภาพเอเปค ปี ๒๕๖๕ ของไทย ​โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศจัดการเสวนาเอเปค (APEC Symposium) เพื่อระดมสมอง​ระหว่างภาครัฐ เอกชนและวิชาการเกี่ยวกับวาระการ​เจ้าภาพเอเปค ปี ๒๕๖๕ ของไทย ​โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,656 view
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศจัดกิจกรรม APEC Symposium เพื่อระดมสมอง​ระหว่างภาครัฐ เอกชนและวิชาการเกี่ยวกับวาระการ​เจ้าภาพเอเปค ปี ๒๕๖๕ ของไทย ​โดยเฉพาะการ​ฟื้นฟูการเดินทาง​และการท่องเที่ยว​ในยุคหลังโควิด-๑๙  การ​สนับสนุน​ SMEs และ​ดิจิทัล​  และการเจริญเติบโตที่​ยั่งยืนและ​ครอบคลุม​ รวมทั้ง​แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งล้วนเป็น​โอกาส​ให้​ไทยได้​แสดง​ศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ 
 
เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๔ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการเสวนาเอเปค (APEC Symposium) ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจโลกในยุคหลังโควิด-๑๙ และร่วมวางยุทธศาสตร์การเป็นเจ้าภาพกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ในปี ๒๕๖๕  
 
จากผู้เข้าร่วมการเสวนากว่า ๑๔๐ คน เห็นพ้องว่า การรับหน้าที่เจ้าภาพเอเปคของไทยมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาค โดยการให้ปี ๒๕๖๕ เป็น“ปีแห่งความหวัง”ในการขับเคลื่อนวาระฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและครอบคลุม  บรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำและการปรับตัวต่อดิจิทัลและโมเดลเศรษฐกิจใหม่  ซึ่งไทยสามารถมีบทบาทสำคัญในการเสนอแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ให้เป็นโมเดลพัฒนาทางเลือก   
 
ผู้เข้าร่วมได้อภิปรายเกี่ยวกับบริบทโลกหลังยุคโควิด-๑๙ รวมทั้งมองถึงบทบาทที่ไทยจะสามารถกำหนดทิศทางการเป็นเจ้าภาพเอเปค ภายใต้หัวข้อสำคัญ ๓ ข้อ ได้แก่ (๑) การอำนวยความสะดวกการค้าและ
การลงทุน (๒) การส่งเสริมความเชื่อมโยง การฟื้นฟูการเดินทางและการท่องเที่ยว และ (๓) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยตัวแปรสำคัญของโลกอนาคต คือเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ความตระหนักถึงปัญหาระดับโลกที่เร่งด่วนที่ภาครัฐและภาคธุรกิจจะต้องร่วมมือกันรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งไทยมีโอกาสที่จะวางกลยุทธ์เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านอาหารและเกษตร การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และสุขภาวะของประชาชนให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งภูมิภาค  
 
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้าง โดยเฉพาะด้านกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็นจุดหมายของการลงทุนในภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) จะเข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น หากภาครัฐสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุน การผลิตแรงงานทักษะสูง รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบการนำเข้าและจ้างงานชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเพื่อส่งเสริมธุรกิจ start-ups  
 
โดยที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก วาระเร่งด่วนขณะนี้ คือ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นในการเดินทางข้ามพรมแดนที่ปลอดภัยและมีการบริหารจัดการที่ดี ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสการฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งที่ประชุมได้หารือเรื่องการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา โดยเน้นการปลูกฝังเยาวชนให้เป็นนักอนุรักษ์ นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า การจัดการขยะและของเสียเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งไทยสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสมาชิกเอเปคอื่น ๆ เพื่อแปลงขยะที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการรีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นเส้นใยผลิตเสื้อผ้าของโครงการพัฒนาดอยตุง การแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือการวิจัยเพื่อนำขนไก่มาแปรรูปเป็นโปรตีนทางเลือก 
 
กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะนำผลการเสวนาครั้งนี้ มาประกอบการกำหนดประเด็นที่ไทยจะขับเคลื่อนในฐานะเจ้าภาพเอเปค เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมกับประชาชนไทยและเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ไทยจะรับหน้าที่ต่อจากนิวซีแลนด์ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔  
 
อนึ่ง เอเปคเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ปัจจุบัน ประกอบด้วย ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจ เน้นสนับสนุนการค้าเสรี การส่งเสริมบทบาทของ
ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสตรี กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมไปถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อม การประกอบธุรกิจ การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน รวมไปถึงการส่งเสริมความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ