เปิดฉากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ ด้วยการหารือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รู้รอบดิจิทัล

เปิดฉากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ ด้วยการหารือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รู้รอบดิจิทัล

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 9 พ.ค. 2565

| 2,275 view

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และการประชุมที่เกี่ยวข้องเปิดฉากขึ้นแล้วในวันนี้ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยเริ่มจากการหารือในกรอบของคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญและผลลัพธ์ที่ไทยคาดหวังในการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลในยุคหลังโควิด-๑๙ และการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมพร้อมปรับตัวกับความท้าทายใหม่ โดยในปีนี้ ไทยได้ผลักดันการประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปคซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๙ - ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ภายใต้หัวข้อ “พลเมืองยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รู้รอบดิจิทัล” ให้สอดคล้องกับหัวข้อหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

คณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปคมุ่งยกระดับคุณภาพแรงงาน การศึกษา และการคุ้มครองทางสังคม ผ่านการทำงานของ ๓ เครือข่ายคือ เครือข่ายด้านการเสริมสร้างสมรรถนะ เครือข่ายด้านการศึกษา และเครือข่ายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม โดยการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ ๔๗ ในปีนี้จะเน้นการหารือเพื่อหาแนวทางการรับมือกับความท้าทายที่เป็นผลพวงมาจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่แม้จะสร้างโอกาสและการจ้างงานใหม่ ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ปิดกั้นโอกาสของแรงงานที่ไม่มีทักษะด้านดิจิทัล นอกจากนี้ กระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทำให้ทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดเปลี่ยนแปลงไปด้วย การประชุมคณะทำงานฯ ในครั้งนี้มีประเด็นการหารือที่สำคัญ ประกอบด้วย (๑) การปรับแนวทางเสริมสร้างสมรรถนะแรงงานในรูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในยุคหลังโควิด-๑๙ (๒) การพัฒนาระบบแรงงานที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนของอุตสาหกรรมและการจ้างงานที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ (๓) นโยบายการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน รวมไปถึงประเด็นความท้าทายอื่น ๆ อาทิ ความเท่าเทียมทางเพศ ผลกระทบต่อการจ้างงานที่ถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ รวมทั้งการออกแบบนโยบายการคุ้มครองแรงานในบริบทการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้เชิญผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์การอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ธนาคารพัฒนาเอเชีย ศูนย์ระหว่างประเทศด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมของ UNESCO รวมไปถึงผู้บริหารสถาบันการศึกษาชั้นนำ มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์ภาคการศึกษาและความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน โดยในส่วนของไทย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะร่วมแสดงวิสัยทัศน์เรื่องผลกระทบจากโควิด-๑๙ ต่อระบบการศึกษาและการพัฒนาระบบการศึกษาให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ในการประชุมเครือข่ายด้านการศึกษา วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นอกจากนี้ ประเด็นที่ผู้แทนไทยจะให้ความสำคัญในการประชุม HRDWG ประกอบด้วย การสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน การบูรณาการแนวทางการกำหนดนโยบายการศึกษาให้เข้ากับการจ้างงานในโลกสมัยใหม่ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น รถยนต์ไฟฟ้า โดยการประชุมครั้งนี้จะสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการไทยที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายการศึกษา การพัฒนาแรงงานและตลาดแรงงานของไทย ให้ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และยกระดับแรงงานไทยให้มีศักยภาพทัดเทียมสากล

ไทยให้ความสำคัญกับแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัลที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อเป้าหมายของไทยในการมุ่งสร้างความเชื่อมโยงทางดิจิทัลที่เอื้อประโยชน์ให้คนทุกกลุ่ม และมุ่งเร่งกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างครอบคลุมเป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินการในเอกสาร Bangkok Goals on BCG Economy ที่ไทยเสนอเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการประชุมผู้นำเอเปคในปีนี้ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ