วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.พ. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ไทยคำนึงถึงโจทย์ของคนไทยและความท้าทายของสถานการณ์โลกเป็นจุดตั้งต้นในการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ จึงได้กำหนดเป้าหมายหลักของการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก หลังโควิด-๑๙ ไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล และทำให้คนไทยและภาคธุรกิจของไทยได้รับประโยชน์จากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทิศทางดังกล่าว หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยจะขับเคลื่อน คือ การเปิดกว้าง สู่ทุกโอกาสด้านการค้าการลงทุน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค โดยจะผลักดันการจัดทำเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทยุคหลังโควิด-๑๙ เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการประชุมเอเปคในปีนี้ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ ด้วย
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้ง ๑ ได้เริ่มขับเคลื่อนประเด็นสำคัญในมิตินี้ โดยในช่วงสัปดาห์แรกของการประชุมฯ ไทยได้จัดการประชุมคณะทำงานไปแล้ว ๑๗ กลุ่ม ครอบคลุมประเด็นที่มีความสำคัญต่อการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของโควิด-๑๙ และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล อาทิ การค้าและการลงทุนมิติใหม่ การทำให้สินค้าสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่เข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคบริการ ไปจนถึงการกำหนดและบังคับใช้ระเบียบการแข่งขันในตลาดดิจิทัลที่ผันผวน
ตัวอย่างการประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หารือประเด็นการค้าและการลงทุนมิติใหม่ อาทิ การทำธุรกิจและการลงทุนที่ครอบคลุมและมีความรับผิดชอบ และโอกาสการลงทุนในเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยไทยได้นำเสนอนโยบายการลงทุนไทยที่เชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG และแนวทางการแก้ปัญหาการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-๑๙ การประชุมกลุ่มทำงานด้านการเข้าถึงตลาด ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมใหม่สำหรับใช้อ้างอิงในเอเปค การประชุมกลุ่มงานด้านการบริการ ได้หารือการนำแผนงานเอเปคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันภาคบริการไปปฏิบัติ และรับฟังรายงานผลการประชุมของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ครั้งที่ ๑ ในประเด็นการบริการด้านดิจิทัลและธุรกิจ e-commerce กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและกฎหมายการแข่งขัน ซึ่งไทยเป็นประธานได้จัดการหารือเชิงนโยบายหัวข้อการกำกับการแข่งขันในตลาดดิจิทัล เพื่อหารือแนวทางการเพิ่มศักยภาพหน่วยงานด้านการกำกับการแข่งขันทางการค้าเพื่อกำกับดูแลตลาดดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ
ผลการประชุมของคณะทำงานเหล่านี้จะนำไปรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการด้านการค้าและการลงทุน และคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นสองคณะกรรมการหลักที่ขับเคลื่อนการทำงานด้านสารัตถะของเอเปค ก่อนจะนำไปสู่การหารือในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ต่อไป ทั้งนี้ การขับเคลื่อนความร่วมมือในเอเปคด้านการค้าการลงทุนจะส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจของไทยได้ประโยชน์จากบรรยากาศการค้าการลงทุนในภูมิภาคที่เปิดกว้างมากขึ้น การเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นวัตกรรมทางดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพและขยายโอกาสของ MSMEs สตรี และเยาวชน เป็นต้น
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **