รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๒ เพื่อเตรียมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๘

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๒ เพื่อเตรียมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 7,217 view
เมื่อวันที่ ๘-๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๒ ผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อเตรียมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๘ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
 
ที่ประชุมย้ำความสำคัญของการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ และความจำเป็นต้องดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยการเสริมสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่เสรีและเปิดกว้าง รวมทั้งการยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฏระเบียบ และการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกหรือ FTAAP ภายใต้บริบทที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP กำลังมีพัฒนาการเชิงบวกในปัจจุบัน ตลอดจน ความคาดหวังให้การประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ ๑๒ (MC12) มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
 
ที่ประชุมเห็นพ้องว่าโควิด-๑๙ จะยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตในระยะยาว เอเปคจึงต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ครอบคลุม และยั่งยืน โดยเน้นเสริมสร้างศักยภาพให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ นำเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจและอนาคตของการทำงาน โดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและความครอบคลุมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ที่ประชุมยินดีต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. ๒๐๔๐ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือของเอเปคในระยะ ๒๐ ปี ข้างหน้า ซึ่งจะนำเสนอให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคให้การรับรองในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
 
ในการประชุมครั้งนี้ ประเด็นหลักที่ไทยผลักดัน ได้แก่ (๑) ส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศน์ทางธุรกิจที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ โดยใช้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวคิดในการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจที่นำไปสู่การส่งเสริมความสมดุลระหว่างทุกสรรพสิ่ง (๒) สร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับการสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ MSMEs สตรี และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจ และลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (๓) การสร้างความมั่งคั่งภายในภูมิภาค โดยส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และเรียกร้องให้การประชุม MC12 มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและตอบสนองต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (๔) การกระชับความร่วมมือในเอเปคตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. ๒๐๔๐ และ (๕) การย้ำบทบาทของภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ในการสนับสนุนการทำงานของเอเปคในภาพรวม
 
รัฐมนตรีเอเปคได้รับรองถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๓๒ ซึ่งย้ำความสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-๑๙ การส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจการค้าที่ช่วยให้เอเปคฟื้นฟูอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน ครอบคลุม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ