วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ส.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ส.ค. 2565
เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๕ ที่กรุงพนมเปญ
รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสนับสนุนความร่วมมือในประเด็นสำคัญภายใต้หัวข้อหลักในการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาในปี ๒๕๖๕ “A.C.T.: Addressing Challenges Together” ผลักดันการสร้างประชาคมอาเซียน การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๕ รวมถึงหารือเพื่อเตรียมความพร้อมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับคู่เจรจาของอาเซียนทั้ง ๑๑ ประเทศ/องค์กร และการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๔๐ และ ๔๑ ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ที่กรุงพนมเปญ ตลอดจนแลกเปลี่ยนทัศนะต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศและสถานการณ์ในภูมิภาค
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำการสนับสนุนของไทยต่อการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชา และผลักดันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน รวมทั้งได้บรรยายสรุปการเตรียมการฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ในปี ๒๕๖๖ ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น และเน้นย้ำความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาท้าทายต่าง ๆ ตลอดจนการมีท่าทีร่วมกันของอาเซียนต่อสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา
นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังเห็นชอบการมอบสถานะคู่เจรจาเฉพาะสาขาแก่บราซิลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และการเข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน รวมทั้งได้ร่วมเป็นสักขีพยานการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเดนมาร์ก กรีซ เนเธอร์แลนด์ โอมาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้มีอัครภาคีสนธิสัญญาฯ รวม ๔๙ ประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วม ตลอดจนการธำรงสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **