การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ณ นครซานฟรานซิสโก

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ณ นครซานฟรานซิสโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2566

| 5,186 view

เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีคณะผู้แทนไทยและคณะนักธุรกิจไทยร่วมเดินทางไปด้วย

การประชุมผู้นำเอเปคเป็นโอกาสสำคัญให้ไทยได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินการของเอเปคเพื่อขับเคลื่อนให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเจริญเติบโตและก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน อีกทั้งเป็นโอกาสให้ไทยได้นำเสนอนโยบายและย้ำความพร้อมเปิดรับการค้าและการลงทุน

การประชุมประสบความสำเร็จด้วยดี โดยมีผู้นำเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคจากทั่วภูมิภาคเข้าร่วม ทั้งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแคนาดา ตลอดจนเพื่อนบ้านอาเซียน ได้แก่ บรูไนฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังได้เชิญโคลอมเบีย ฟีจี และอินเดียเข้าร่วมในฐานะแขกของประธาน ทั้งนี้ การประชุมบรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม คือ การรับรองเอกสารผลลัพธ์ ๒ ฉบับโดยฉันทามติ ได้แก่ ปฏิญญาโกลเดนเกตของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๓

สำหรับไทย การประชุมเอเปคในปีนี้มีความพิเศษ เพราะสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการสานต่อผลงานของไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ โดยเฉพาะเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งเป็นเอกสารฉบับแรกของเอเปคที่วางแนวทางไปสู่ความยั่งยืนอย่างครอบคลุมและบูรณาการ โดยสหรัฐฯ ได้ขับเคลื่อนงาน ภายใต้หัวข้อหลัก “การสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน” ตลอดทั้งปี

นายกรัฐมนตรียังได้ใช้โอกาสการประชุมย้ำกับผู้นำเขตเศรษฐกิจและผู้นำภาคเอกชนของเอเปคว่า ไทยกลับมาแล้ว และเปิดตัวนโยบายสำคัญที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแสดงความพร้อมของไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศน์ที่จะรองรับการลงทุนจากต่างชาติในอนาคต อาทิ โครงการ Landbridge ที่จะเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก การผลักดันการจัดทำความตกลงทางการค้า การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเร่งการเติบโต นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังได้เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) รวมทั้งพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และรัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ หลายแห่ง และได้พบปะกับชุมชนชาวไทยในรัฐแคลิฟอร์เนียด้วย

เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลสูงในการกำหนดทิศทางและนโยบายในประเด็นสำคัญของโลก และเป็นแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยเฉพาะในเรื่องการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีของโลกที่มีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลาง และการสร้างความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งเอเปคและสนับสนุนการทำงานของเอเปคมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเอเปคมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล (เอเปคครอบคลุมประชากรเกือบร้อยละ ๔๐ ของประชากรโลก และมีสัดส่วนการค้าเกินครึ่งหนึ่งของการค้าโลก) อีกทั้งสมาชิกเอเปคส่วนใหญ่ล้วนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยทั้งสิ้น การเข้าร่วมและมีบทบาทที่แข็งขันในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในปีนี้จึงช่วยตอกย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคต่อไป เพื่อสร้างประโยชน์และอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนและคนรุ่นใหม่ ดังที่เคยทำมาตลอดกว่า ๓๐ ปี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ