กิจกรรมเปิดตัวตราสัญลักษณ์ ACMECS

กิจกรรมเปิดตัวตราสัญลักษณ์ ACMECS

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ก.ค. 2567

| 2,056 view

เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวตราสัญลักษณ์ ACMECS ที่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์ดังกล่าว โดยมีนายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และผู้แทนจากประเทศสมาชิก ACMECS และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

รองปลัดกระทรวงฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานโดยย้ำถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) ในการดำเนินความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS กันเอง และระหว่าง ACMECS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners: DPs) โดย ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือเดียวที่มีเฉพาะประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการกำหนดวาระการพัฒนาและทิศทางความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ และเป็นกรอบความร่วมมือที่ยึดอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นศูนย์กลาง (Mekong-centric) ทั้งนี้ การมีตราสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ACMECS จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๖ ถือเป็นก้าวสำคัญ ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับ ACMECS ของภาคส่วนต่าง ๆ ต่อไป

ตราสัญลักษณ์ ACMECS ที่เปิดตัวในวันนี้ ออกแบบโดยนายไพฑูรย์ ปฏิสนธิเจริญ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ ACMECS ที่มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจากทั้ง ๕ ประเทศสมาชิก ACMECS ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ได้รับแรงบันดาลใจจากหยดน้ำซึ่งสื่อถึงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และใบพัดที่มีลักษณะเสมือนหมุนอยู่และไม่หยุดนิ่ง ซึ่งสื่อถึงการมีพลวัตและความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และการมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งไปข้างหน้า (forward-looking) นอกจากนี้ การหมุนรวมตัวกันของเส้นสาย สื่อถึงการเชื่อมโยงและความร่วมมือของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยที่สีต่าง ๆ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสีของธงชาติประเทศสมาชิก ACMECS ทั้ง ๕ ประเทศ

ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งริเริ่มจัดตั้งโดยไทยเมื่อปี ๒๕๔๖ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และโอกาส การจ้างงาน รวมถึงลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ตลอดจนส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners: DPs) ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เข้ามามีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในอนุภูมิภาคฯ อย่างสอดคล้องและเกื้อกูลกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ