พิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศในนามของประเทศสมาชิก ACMECS กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงว่าด้วยการสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS

พิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศในนามของประเทศสมาชิก ACMECS กับสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงว่าด้วยการสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 ก.พ. 2567

| 3,285 view

เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศในนามของประเทศสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) กับสถาบัน MI ว่าด้วยการสนับสนุนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ณ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และขับเคลื่อนสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS โดยมีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานสถาบัน MI ผู้แทนกรมที่เกี่ยวข้องของกระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิก ACMECS และประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS ในประเทศไทยเข้าร่วมด้วย

รองปลัดพันทิพาฯ กล่าวแสดงความยินดีกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ และเห็นว่า พิธีลงนามฯ จัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีของการจัดตั้ง ACMECS ในปี ๒๕๖๖ โดยบันทึกความเข้าใจฯ จะมีส่วนช่วยสนับสนุน ACMECS ในการตอบสนองต่อความท้าทายทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในขณะที่รักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์หลักของการเป็นกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพียงกรอบเดียวที่มีประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งห้าประเทศเป็นผู้ขับเคลื่อน นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจฯ จะช่วยสนับสนุนบทบาทของ ACMECS ในการเป็น “จุดเชื่อมต่อ” เพื่อสอดประสานความร่วมมือในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในการลดช่องว่างทางการพัฒนาในอนุภูมิภาคฯ และส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียนด้วย

การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เป็นผลมาจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ACMECS เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของไทยให้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ณ กระทรวงการต่างประเทศ ที่กรุงเทพฯ โดยมีภารกิจหลัก ๔ ประการ ได้แก่ (๑) การวางนโยบาย การวางแผน และการประสานงาน (๒) การให้บริการในการจัดประชุม (๓) การบริหารจัดการโครงการ และ (๔) ยุทธศาสตร์การสื่อสาร ทั้งนี้ สถาบัน MI จะทำหน้าที่เป็นสำนักงานสนับสนุน (back office) ในการดำเนินภารกิจดังกล่าวของสำนักงานเลขาธิการชั่วคราวฯ

อนึ่ง ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งริเริ่มจัดตั้งโดยไทยเมื่อปี ๒๕๔๖ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และโอกาส การจ้างงาน รวมถึงลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ตลอดจนส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners: DPs) ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เข้ามามีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในอนุภูมิภาคฯ อย่างสอดประสานกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ