ญี่ปุ่นสมทบทุนในกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS สำหรับโครงการ ACMECS Branding Project สนับสนุนภาคธุรกิจและ SMEs ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

ญี่ปุ่นสมทบทุนในกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS สำหรับโครงการ ACMECS Branding Project สนับสนุนภาคธุรกิจและ SMEs ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 มี.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 มี.ค. 2565

| 2,295 view

รัฐบาลญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partner) ของ ACMECS ได้สมทบทุนในกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS (ACMECS Development Fund: ACMDF) จำนวน ๑,๓๘๘,๘๘๘ ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการ ACMECS Branding Project เพื่อการสนับสนุนภาคธุรกิจและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้ฟื้นตัวจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

โครงการ ACMECS Branding Project เป็นโครงการปฐมฤกษ์ที่มีนัยสำคัญยิ่งต่ออนุภูมิภาคฯ ๒ ประการ ประการแรก โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมครั้งแรกระหว่าง ACMECS กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม มีความสอดคล้องตามแผนแม่บท ACMECS ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓ และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศสมาชิก ACMECS ในการสนับสนุนธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายในช่วงเวลาวิกฤติของสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ผ่านการดำเนินกิจกรรมและข้อริเริ่มต่าง ๆ อาทิ การจัดตั้งระบบข้อมูลสารสนเทศ การเสริมสร้างขีดความสามารถและการฝึกอบรมวิชาชีพ การดำเนินกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ การพัฒนาดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และประการที่สอง โครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กรอบ ACMECS ตลอดจนช่วยให้อนุภูมิภาคฯ สามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกัน

สำหรับโครงการของไทยภายใต้โครงการ ACMECS Branding Project กระทรวงการต่างประเทศได้รับความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำโครงการส่งเสริมธุรกิจ พัฒนาศักยภาพและเครือข่ายของ SMEs ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ๔ อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร พลาสติกและพลาสติกชีวภาพ ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๖ โดยความริเริ่มของไทย มีประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นสมาชิกครบทั้ง ๕ ประเทศประกอบด้วยไทย กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม และมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก โดย ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือเดียวที่ประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นแกนกลางและเป็นผู้กำหนดวาระเพื่อการพัฒนาด้วยตนเอง ทั้งนี้ เมื่อปี ๒๕๖๑ ในระหว่างที่ไทยดำรงตำแหน่งประธาน ACMECS ไทยและประเทศสมาชิกได้ร่วมกันจัดทำแผนแม่บท ACMECS ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก (Building ACMECS Connect by 2023) รวมทั้งได้ริเริ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและการจัดตั้งกลไกทางการเงิน โดยมีกองทุน ACMDF เป็นหนึ่งในกลไกทางการเงินสำหรับการระดมทุนจากประเทศสมาชิกและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาและส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติในอนุภูมิภาคฯ

ไทยเชื่อมั่นว่า ACMECS ที่เข้มแข็งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันและเป็นกุญแจสำคัญของสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศสมาชิกและประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไทยจึงสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อน ACMECS อย่างมีพลวัตต่อเนื่อง และเป็นผู้ประสานกับประเทศสมาชิกและญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดในการอำนวยความสะดวกการสมทบทุนฯ ของญี่ปุ่นและการจัดทำโครงการ ACMECS Branding Project ในครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี