นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการพัฒนาความเชื่อมโยงทุกมิติและสนับสนุนให้ยาและวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ในการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ ๙

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการพัฒนาความเชื่อมโยงทุกมิติและสนับสนุนให้ยาและวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ในการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ ๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,075 view

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการพัฒนาความเชื่อมโยงทุกมิติ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการค้าการลงทุนข้ามพรมแดน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในยุคหลังโควิด-๑๙ พร้อมยืนยันไทยพร้อมสนับสนุนให้ยาและวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่สมเหตุสมผล ในการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ ๙ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓

เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ ๙ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อ “หุ้นส่วนเพื่อความเชื่อมโยงและความยืดหยุ่น” โดยมีนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นประธาน

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการพัฒนาความเชื่อมโยงทุกมิติ (multidimensional connectivity) ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการค้าการลงทุนข้ามพรมแดน เป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-๑๙ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ACMECS ในระยะยาว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเห็นว่าประเทศ ACMECS ต้องพลิกวิกฤติโควิด-๑๙ ให้เป็นโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาคบนพื้นฐานของความสำเร็จในการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยไทยพร้อมสนับสนุนให้ยาและวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่สมเหตุสมผล

ที่ประชุมได้ทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ ๓ เสาของแผนแม่บท ACMECS ระยะ ๕ ปี (ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓) และรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม คือ ปฏิญญาพนมเปญของการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ครั้งที่ ๙ ซึ่งสะท้อนพัฒนาการที่สำคัญในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการตกลงแนวทางการขับเคลื่อนกรอบความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ (๑) ตกลงขอบเขตการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS (๒) ตกลงกลไกการทำงานของคณะกรรมการประสานงาน ๓ เสา (๓) ตกลงรายชื่อโครงการจำเป็นเร่งด่วนที่จะดำเนินการต่อไป และ (๔) รับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากลุ่มแรกได้แก่ จีน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย รวมทั้งกลุ่มที่สองที่เพิ่งรับในปีนี้ได้แก่นิวซีแลนด์และอิสราเอล

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งไทยยืนยันเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนเงินจำนวน ๒๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกัมพูชาเสนอเพิ่มเติมอีก ๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ขับเคลื่อนการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้มีความคืบหน้า อีกทั้งประเทศสมาชิกเห็นชอบให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACMECS เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการ และประสานการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

ถือว่าการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๙ ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จในการส่งสัญญาณให้ประชาคมโลกได้รับทราบว่า ACMECS พร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบและพร้อมขับเคลื่อนกรอบความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมด้วยการสนับสนุนเงินในกองทุน ACMECS ผลการประชุมยังสะท้อนความไว้เนื้อเชื่อใจของประเทศสมาชิกที่มีต่อบทบาทของไทย ทั้งเรื่องการเพิ่มสาขาที่ ๔ “Safe, Secure and Trustworthy ACMECS” ในแผนแม่บท และข้อเสนอการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACMECS ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในของ ACMECS อย่างยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ