นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงคู่ขนานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๒ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ ได้แก่ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๑๒ (12th Lower Mekong Initiative (LMI) Ministerial Meeting) และการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง - คงคา ครั้งที่ ๑๐ (10th Mekong-Ganga Cooperation (MGC) Ministerial Meeting) และต่อมา เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นประธานร่วมในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๙ (9th Mekong-ROK Foreign Ministers’ Meeting) และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๒ (12th Mekong-Japan Foreign Ministers’ Meeting) เพื่อทบทวนการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือฯ แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ต่อทิศทางความร่วมมือในอนาคต และหารือสถานการณ์ในภูมิภาค
การประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๑๒
จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของการก่อตั้ง LMI ภายใต้หัวข้อหลัก ‘อนาคตของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง’ โดยมีไทยและสหรัฐฯ เป็นประธานร่วม ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันยินดีต่อพัฒนาของ LMI ในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา ในการเป็นกลไกชั้นนำในการช่วยแก้ไขปัญหาในภูมิภาคและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ รวมทั้งชื่นชมบทบาทอย่างสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและผู้เชี่ยวชาญต่อโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยเฉพาะในสาขาการศึกษา พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ต่อแนวทางการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาความท้าทายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไปในอนาคต อาทิ การเพิ่มพูนความร่วมมือผ่านโครงการสร้างเครือข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้าในภูมิภาคและการนำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการคาดคะเนการเกิดน้ำหลากและน้ำแล้ง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการลดความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงปัญหาน้ำแล้งในแม่น้ำโขง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม คุณภาพและทักษะของแรงงาน และการสร้างกฎระเบียบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นองค์รวมในการดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ในโอกาสเดียวกัน รัฐมนตรีของประเทศสมาชิกได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) ถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ ๑๒ และ (๒) ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการสร้างเสริมการประสานงานระหว่างมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
การประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือแม่โขง - คงคา ครั้งที่ ๑๐
ที่ประชุมฯ ได้ร่วมแสดงความยินดีต่อพัฒนาการของ MGC ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเจริญเติบโตและการพัฒนาลุ่มน้ำโขง รวมทั้งการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสมาชิกลุ่มน้ำโขงผ่านวัฒนธรรมและประชาชน และยินดีที่ในปี ๒๕๖๓ จะครบรอบ ๒๐ ปี ของ MGC นอกจากนี้ ประเทศลุ่มน้ำโขงได้ขอบคุณอินเดียที่ให้ความช่วยเหลือในโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ผ่านโครงการ Quick Impact Projects (QIPs) การจัดสรรเงินกู้ Line of Credit จำนวน ๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกองทุนเพื่อการพัฒนา (Development Fund) ที่อินเดียได้ให้แก่สมาชิกลุ่มน้ำโขงเพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งชื่นชมอินเดียที่ได้ยกร่างแผนปฏิบัติการ MGC ๒๐๑๙-๒๐๒๒ ซึ่งช่วยกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคตของ MGC และมุ่งเน้นในสาขาความเชื่อมโยง การบริหารจัดการน้ำ วัฒนธรรม การค้า และการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำถึงความสำคัญของอินเดียในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะบทบาทของ MGC ที่จะช่วยเชื่อมเอเชียใต้กับเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีลุ่มน้ำโขงเป็นตัวเชื่อมหลัก ผ่านโครงการถนนสามฝ่าย เมียนมา - อินเดีย - ไทย เชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก -ตะวันตก (EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (SEC) ในกรอบแม่โขง และเมื่อสำเร็จ จะเป็นระเบียงเศรษฐกิจแรกที่เชื่อมสองอนุภูมิภาคเข้าด้วยกัน พร้อมสนับสนุนให้ใช้ประโชน์จากแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงในกรอบต่าง ๆ อาทิ ACMECS MPAC และ BIMSTEC และสนับสนุนความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ที่อินเดียมีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ไทยได้กล่าวต้อนรับอินเดียที่ได้ตอบรับเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS โดยจะร่วมกันพัฒนาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป ในโอกาสดังกล่าว ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) แผนปฏิบัติการปี ค.ศ. ๒๐๑๗ - ๒๐๒๒ และ (๒) แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือ MGC
การประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๙
ที่ประชุมฯ ชื่นชมบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีในการพัฒนาอนุภูมิภาค และแผนการเพิ่มเงินทุนในการสนับสนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาของกรอบฯ จาก ๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น ๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ๒๕๖๓ และเห็นพ้องร่วมกันในประเด็น (๑) การยกระดับความร่วมมือเป็นการประชุมระดับผู้นำในปี ๒๕๖๒ (๒) สนับสนุนสาขาความร่วมมือที่สาธารณรัฐเกาหลีมีบทบาทสำคัญ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาฝีมือแรงงาน การเกษตรที่ทันสมัย และการจัดการทรัพยากรน้ำ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (๓) สนับสนุนบทบาทภาคเอกชนผ่านกลไกความร่วมมือการประชุมภาคธุรกิจ (Mekong - ROK Business Forum) และ (๔) สนับสนุนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งได้รับรองถ้อยแถลงประธานร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ ๙ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมชื่นชมบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลี โดยเห็นว่านโยบาย New Southern Policy สอดคล้องกับการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS และพร้อมสนับสนุนความร่วมมือแบบไตรภาคีระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) และสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศเกาหลี (KOICA) ในโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนแสดงความพร้อมที่ไทยจะร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภาคธุรกิจฯ ครั้งที่ ๗ ในเดือนกันยายน ๒๕๖๒ และการประชุมระดับผู้นำของกรอบความร่วมมือฯ ครั้งแรก ในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี
การประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๒
ที่ประชุมฯ เห็นพ้องที่จะสานต่อความร่วมมือภายใต้สามเสาหลักของ Tokyo Strategy 2018 ได้แก่ (๑) การพัฒนาความเชื่อมโยงที่ดีและมีคุณภาพ (๒) การพัฒนาสีเขียวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยสนับสนุนการจัดทำ “ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐” ให้เสร็จสิ้นเพื่อสามารถรับรองในการประชุมผู้นำ MJ ครั้งที่ ๑๑ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ (๓) การสร้างสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยยินดีต่อการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อฉลอง Mekong Japan Exchange Year 2019 และการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งได้รับรองถ้อยแถลงประธานร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๒ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นดำเนินการตามแนวคิด Free and Open Indo Pacific ของญี่ปุ่นซึ่งสอดคล้องกับ ASEAN Outlook on the Indo Pacific รวมทั้งแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. ๒๐๑๙ - ๒๐๒๓) โดยที่ประชุมยินดีที่ญี่ปุ่นได้ประกาศการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำบทบาทไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนในการพัฒนาและประเทศผู้ให้ในลุ่มน้ำโขงที่พร้อมจะร่วมมือกับญี่ปุ่นในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาความเชื่อมโยงในทุกมิติ การสานต่อการจัดการประชุม Green Mekong Forum ร่วมกับญี่ปุ่น (จะเปลี่ยนชื่อเป็นการประชุม Mekong Japan SDGs Forum ในปีหน้า) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งยินดีที่ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS โดยไทยต้องการส่งเสริมให้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นและ ACMECS ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันและเกื้อหนุนกัน