การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ส.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 593 view

 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS)  ซึ่งจัดในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วม ได้แก่ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐฯ 

 

          ที่ประชุมย้ำถึงความสำคัญของ EAS ในการเป็นเวทีหลักเพื่อหารือประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคในระดับผู้นำ โดยมีอาเซียนเป็นแกนกลาง โดยเฉพาะประเด็นภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ และการจัดการภัยพิบัติ รัฐมนตรีต่างประเทศได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี รัฐยะไข่ และทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ ที่ประชุมยินดีและสนับสนุนมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก 

 

             ที่ประชุมหารือเรื่องความร่วมมือในหลายด้าน ในด้านความมั่นคง ที่ประชุมได้เน้นเรื่องการจัดการกับปัญหายาเสพติด การต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2030 การรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการการประมง ที่ประชุมเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี รวมถึงการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ให้แล้วเสร็จในปีนี้ ในด้านเสาสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการต่อต้านโรคระบาดและการกำจัดปัญหาขยะทะเล ตลอดจนมาตรการในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

            นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการกรุงมะนิลาเพื่อผลักดันปฏิญญากรุงพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มการพัฒนาของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ค.ศ. 2018-2022 (Progress Report on the Implementation of the Manila Plan of Action to Advance the Phnom Penh Declaration on the East Asia Summit Development Initiative 2018 – 2022) และหารือเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 22 ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ 

 

EAS เป็นกลไกเพื่อหารือประเด็นยุทธศาสตร์โดยอาเซียนมีบทบาทนำ ก่อตั้งเมื่อปี 2542 และมีพลวัตอย่างมากในการขับเคลื่อนความร่วมมือรายสาขา อาทิ การเงิน ความเชื่อมโยง สิ่งแวดล้อมและพลังงาน และการศึกษา การดำเนินการของ EAS เป็นไปตามแผนปฏิบัติการกรุงมะนิลาเพื่อผลักดันปฏิญญากรุงพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มการพัฒนาของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ค.ศ. 2018-2022

 

...................................