ไทยกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน: การประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ ๙-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

ไทยกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน: การประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ ๙-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 775 view

นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ ๙-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก การประชุมคครั้งนี้ เป็นการประชุมประจำปีเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ (2030 Agenda) โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๔ นับแต่ประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมรับรอง 2030 Agenda เมื่อปี ๒๕๕๘ หัวข้อหลักสำหรับปีนี้ คือ “Empowering people and ensuring inclusiveness and equality”

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศอาเซียนในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน โดยกล่าวถึงการเสริมสร้างศักยภาพและการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ผ่านกระบวนการสอดประสานกันของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยเฉพาะในประเด็นการขจัดความยากจน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง การส่งเสริมการผลิต การบริโภค และการจัดการ โดยอาเซียนมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ สะท้อนผ่านความเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม สังคมที่ยืดหยุ่นและปรับตัวสูงรองรับความท้าทายจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสังคมที่ยั่งยืนและรักษ์สิ่งแวดล้อม และสังคมที่เชื่อมโยง ไร้รอยต่อ พร้อมรองรับ 4IR อย่างยั่งยืน โดยมีแผนจะจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิดหลัก (theme) “Advancing Partnership for Sustainability”

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศยังได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย โดยกล่าวถึงความสำคัญของการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่องผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาชาติ และมาตรการสำคัญต่าง ๆ อาทิ การให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจ้างงานผู้พิการ การให้สัญชาติแก่บุคคลไร้รัฐ โครงการอาชีวอนามัย การจัดตั้ง Smart Job Centres ความร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาชน  การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดความไม่เท่าเทียม  และในฐานะประเทศสมาชิก ECOSOC ปี พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๕ไทยพร้อมจะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมระหว่างประเทศ

คณะผู้แทนไทยได้ร่วมอภิปรายและให้ความเห็นในช่วงการทบทวนเชิงลึกของ SDGs ใน ๖ เป้าหมายได้แก่ เป้าหมายที่ ๔ (การศึกษาที่เท่าเทียม) ๘ (การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ๑๐ (การลดความเหลื่อมล้ำ) ๑๓ (การรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ) ๑๖ (สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก) และ ๑๗ (หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา) นอกจากนี้​ การประชุมยังมีการอภิปรายเกี่ยวกับทางเลือกและกลไก เพื่อการพัฒนา รวมทั้งมีวาระให้ประเทศต่างๆ​ นำเสนอรายงาน Voluntary National Reviews (VNRs) เพื่อแลกเปลี่ยนความคืบหน้า แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและความท้าทายใหม่ ๆ ในบริบทของประเทศต่าง ๆ ซึ่งไทยได้นำเสนอต่อที่ประชุมแล้วเมื่อปี ๒๕๕๗ และยังคงติดตามความคืบหน้าและจัดทำรายงานเผยแพร่ในการประชุมคู่ขนานของ HLPF อย่างต่อเนื่องทุกปี

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมคู่ขนานในหัวข้อ “Regional contributions to empower people and promote equality: experiences, lessons learnt and way forward” เพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีจาก แต่ละภูมิภาค รวมถึงไทย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก และไทยยังเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ จัดกิจกรรมคู่ขนานและร่วมเป็นผู้อภิปรายในหัวข้ออื่น ๆ ได้แก่ การจัดการภัยพิบัติ สิทธิมนุษยชนกับ 2030 Agenda และนโยบายที่เกี่ยวกับครอบครัวและเด็กในที่ทำงาน ร่วมกับผู้แทนจากภาคเอกชน (Global Compact Network Thailand)

การเข้าร่วมการประชุม HLPF เป็นโอกาสสำคัญในการนำเสนอแนวคิดและทิศทางการผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้ง ติดตามพัฒนาการ ความก้าวหน้าและความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในสังคมไทย ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อปูทางไปสู่การหารือในระดับผู้นำ (SDG Summit) ในเดือนกันยายน ๒๕๖๒