วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ค. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑ - ๒ ก.ค. ๒๕๖๒ นางสาวรมณี คณานุรักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก นำนายจาตุรนต์ จันระมาด ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และงานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ (TP) ฝ่ายช่าง (DT) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายวงศ์พัทธ์ พันธ์เจริญ พนักงานกองเศรษฐกิจการบิน ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และนางสุดากร เทวกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครลอสแอนเจลิส เยือนเมือง Ciduad Obregón, Guaymas และ Hermosillo รัฐโซโนรา เม็กซิโก เพื่อศึกษาประสบการณ์และพัฒนาการอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของเม็กซิโก โดยเฉพาะการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษากับภาคเอกชน ประสบการณ์การดึงดูดให้บริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทให้บริการด้าน Maintenance, Repair and Overhaul (MRO) เข้ามาลงทุน การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินในรัฐ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของไทยในการนำความรู้ที่ได้จากการเยือนไปปรับใช้กับ การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ภายใต้นโยบาย ๔.๐ ของไทย และเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานของไทยกับเม็กซิโก ภายใต้โครงการศึกษาศักยภาพด้านการบินและอากาศยานของเม็กซิโก ณ รัฐโซโนรา ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก
ในระหว่างการเยือน คณะได้ (๑) เข้าเยี่ยมคารวะนาย Jorge Vidal Ahumada รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจรัฐโซโนรา เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านอากาศยานของรัฐ รวมถึง ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านอากาศยาน ระหว่างรัฐโซโนรากับรัฐแอริโซนา สหรัฐฯ ภายใต้กรอบ Arizona-Sonora Megaregion (๒) หารือกับ Economic Promotion Council เมือง Ciudad Obregón (COPRECO) เพื่อศึกษากี่ยวกับแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง MRO ที่นิคมอุตสาหกรรม Advanced Manufacturing Technology Industrial Park (PITAM) ซึ่งติดกับท่าอากาศยานนานาชาติของเมือง (๓) เยี่ยมชมบริษัทด้านอากาศยาน คือ QET Tech Aerospace (QTA) บริษัทเม็กซิโก ซึ่งลงทุนตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินอยู่ที่เมือง Ciudad Obregón ให้บริการแก่ Original Equipment Manufacturer (OEM) ต่าง ๆ เช่น Bombardier, GE Aviation Services (GECAS) สายการบินผู้โดยสาร เช่น Aeromexico, Volaris สายการบินขนส่งสินค้า เช่น MSC Cargo รวมทั้ง Federal Police และ Air force ของเม็กซิโก และมีความสามารถในการซ่อมบำรุงระดับ C (medium-heavy maintenance) ๑ และ Paradigm Precision บริษัทสหรัฐฯ ซึ่งลงทุนผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เช่น turbine center frame อยู่ที่เมือง Guaymas เพื่อส่งต่อไปให้ OEM ในประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐฯ และ (๔) เยี่ยมชมสถาบันการศึกษาและศูนย์ฝึกอบรมด้านอากาศยาน คือ Technological University of Guaymas (UTG) เมือง Guaymas เปิดหลักสูตร bilingual ระดับช่างอากาศยานและปริญญาตรีและโทด้านอากาศยาน และมีโครงการให้นักศึกษาได้ประกอบเครื่องบินขนาด ๒ ที่นั่งทั้งลำด้วยตนเอง Advanced Technology Training Center (CEFTA) เมือง Guaymas เป็นศูนย์ฝึกอบรมแรงงานของบริษัทและนิคมอุตสาหกรรม Tetakawi โดยให้การฝึกอบรมแรงงานของบริษัทอากาศยานต่าง ๆ รวมทั้ง Paradigm Precision Sonora Institute for Aerospace & Advanced Manufacturing (SIAAM) เมือง Hermosillo เป็นศูนย์ฝึกอบรมแรงงานด้านอากาศยานของรัฐบาลโซโนรา โดยบริษัทอากาศยานที่เข้ามาลงทุนในโซโนราสามารถใช้บริการศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายTechnological Institute of Hermosillo (ITH) เมือง Hermosillo เปิดการเรียนการสอนด้านอากาศยาน เช่น aeronautics engineering และมีความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ เช่น Paradigm Precision, Latecoere (ผลิตประตู Boeing ๗๘๗) Ducommun (ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องบิน) Williams International (ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน) เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกอบรมโดยตรง
กับภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการเรียนในห้องเรียน และ Center for Technological Research and Innovation for the Aerospace Sector (CITISA) เมือง Hermosillo อยู่ภายใต้ ITH มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอากาศยานของทั้งรัฐ ในการออกแบบการผลิตในส่วนและส่วนประกอบ และระบบอากาศยานและอวกาศ
ในช่วงที่ ๒ ปีที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดโครงการศึกษาศักยภาพด้านอากาศยานที่รัฐต่าง ๆ ที่มีศักยภาพของเม็กซิโก คือ เกเรตาโร บาฮากาลิฟอร์เนีย รวมถึงโซโนราในครั้งนี้ และได้เรียนรู้ว่า (๑) การเติบโตของอุตสาหกรรมอากาศยานในเม็กซิโกมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และ North American Free Trade Agreement (NAFTA) โดย OEM ในสหรัฐฯ และแคนาดา ใช้ประโยชน์จาก NAFTA โดยการเข้ามาผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในเม็กซิโก ซึ่งค่าแรงราคาถูก และส่งออกไปประกอบต่อในประเทศของตน (๒) การลงทุนด้านอากาศยานในเม็กซิโกครอบคลุมชิ้นส่วนและกระบวนการทุกอย่างที่ทำให้เม็กซิโกผลิตเครื่องบินเองได้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีรัฐ/บริษัทไหนในเม็กซิโกทำได้ โดยยังเน้นส่งออกไปให้ OEM อยู่ (๓) รัฐที่มีศักยภาพด้านอากาศยานในเม็กซิโกให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกันกับทุกภาคส่วน โดยจัดตั้ง Aerospace Cluster ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยบริษัทอากาศยาน (OEM และ suppliers) ภาครัฐ และภาควิชาการ และทุกรัฐมีเป้าหมายทีจะผลิตเครื่องบินทั้งลำได้เองและส่งเสริมขีดความสามารถของบริษัทเม็กซิโก และ (๔) เม็กซิโกให้ความสำคัญกับการพัฒนาและจัดสรรแรงงานให้แก่อุตสาหกรรมอากาศยานที่เข้ามาลงทุน โดยได้จัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับ ปวส. และมหาวิทยาลัย รวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางด้านอากาศยานขึ้นหลายแห่ง ไทยจึงสามารถเรียนรู้การจัดตั้ง Aerospace Cluster และแสวงหาความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อป้อนอุตสาหกรรมดังกล่าว จากเม็กซิโกต่อไปได้
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **