เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยจัดการประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ ๖ ณ โรงแรม Pullman Bangkok King Power Hotel กรุงเทพฯ โดยมีนายนิกรเดช พลางกูร รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และนาย Kenichi Kobayashi รองอธิบดี สำนักกิจการเอเชียแลโอเชียเนียและกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า ๑๐๐ คน จากประเทศลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น ประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภาคเอกชน และเยาวชน และเป็นครั้งแรกที่ได้เชิญเยาวชนมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของเยาวชนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายและแนวทางในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผู้แทนไทยได้แบ่งปันประสบการณ์ของไทยเกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็น home-grown approach ของไทย รวมทั้งการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) และกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) โดยผู้แทนจากเวียดนามให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ผู้แทนญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมนโยบาย Society 5.0 การพัฒนาชนบท และการส่งเสริมเยาวชนและสตรี ผู้แทนจาก UNESCAP ได้แจ้งสถิติแสดงความคืบหน้าของการบรรลุ SDGs ในเอเชียแปซิฟิกและความท้าทายในการจัดทำข้อมูล/สถิติที่เกี่ยวข้อง
ภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการขยะทะเล” ผู้แทนไทยและองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ERIA และ UNEP เน้นความสำคัญของการมียุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการกับขยะทะเลและขยะในแม่น้ำโขง รวมทั้งการนำขยะมาใช้ใหม่ (recycle) การปรับปรุงการบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมาย การประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมียนมา กัมพูชา สปป. ลาว และ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการน้ำในประเทศของตน โดยให้ความสำคัญต่อการมียุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร รวมทั้งการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลน้ำระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขง และการพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย และพัฒนาด้านการบริหารจัดการน้ำ
การประชุมครั้งนี้ นับว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมที่เปิดโอกาสให้สมาชิกประเทศลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่นได้แบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อันสอดคล้องกับ SDGs2030 โดยเน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะทางทะเลและการจัดการบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งที่ประชุม ต่างเห็นพ้องถึงความสำคัญว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นข้ามพรมแดนและเน้นถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การสร้างเครือข่ายระหว่างกัน รวมถึงความสำคัญและจำเป็นของแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนสำหรับการดำเนินการตามแนวทางและโครงการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์
อนึ่ง การประชุมครั้งนี้ จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ ๖ โดยในปีนี้ มีหัวข้อเกี่ยวกับ SDGs อันเป็นมิติใหม่ในความสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นตามยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ ซึ่งในการประชุมในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ (ครั้งที่ ๗) จะเปลี่ยนชื่อการประชุมจาก Green Mekong Forum เป็น Mekong Japan SDGs Forum ซึ่งครอบคลุมประเด็นความร่วมมือและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มากกว่าเน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว