การแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับยูเครนว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องทางอาญา

การแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับยูเครนว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องทางอาญา

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,808 view
เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนในการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร (Instrument of Ratification) กับ นาย Andrii Beshta เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งยูเครนประจำราชอาณาจักรไทย ณ ห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ 
 
ทั้งนี้ ไทยกับยูเครนได้ลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องทางอาญา (Treaty between the Kingdom of Thailand and Ukraine on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters) เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ กรุงเทพฯ
 
ตามข้อ ๒๐ ของสนธิสัญญาฯ กำหนดว่า “...สนธิสัญญาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่สามสิบหลังจากวันที่มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร” จึงมีผลทำให้สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวจะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป 
 
สนธิสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้ 
  ๑. ทั้งสองฝ่ายจะใช้มาตรการที่กว้างขวางที่สุดเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน การฟ้องคดี และกระบวนการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางอาญา ไม่ว่าหน่วยงานที่ได้รับการร้องขอหรือที่จะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายนั้น จะเป็นศาลหรือหน่วยงานอื่นใดที่มีอำนาจ
  ๒. สนธิสัญญาฯ จะไม่ใช้บังคับกับการจับกุมหรือการกักขังบุคคลใดเพื่อส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหรือกับความผิดทางทหาร
  ๓. รัฐผู้รับคำร้องขออาจปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือได้ในสองกรณีกล่าวคือ
      ๓.๑  ในกรณีที่มีผลกระทบต่ออธิปไตย ความมั่นคง หรือผลประโยชน์สาธารณะที่สำคัญยิ่งอื่นๆ ของรัฐ ผู้รับคำร้องขอหรือความปลอดภัยของบุคคลใด 
      ๓.๒  คำร้องขอนั้นเกี่ยวเนื่องกับความผิดทางการเมือง
๔. รัฐผู้รับคำร้องขออาจเลื่อนการให้ความช่วยเหลือ หากการปฏิบัติตามคำร้องขอจะเป็นการแทรกแซง การสืบสวนสอบสวน การฟ้องคดี หรือกระบวนการทางอาญา ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในรัฐผู้รับคำร้องขอ
๕. คำร้องขอความช่วยเหลือตามสนธิสัญญานี้ จะกระทำโดยเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานกลางของแต่ละฝ่าย สำหรับประเทศไทยได้แก่อัยการสูงสุดหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด และสำหรับประเทศยูเครนได้แก่กระทรวงยุติธรรม (เกี่ยวกับคำร้องขอที่จัดทำโดยศาล) และสำนักงานอัยการสูงสุด (เกี่ยวกับคำร้องขอที่จัดทำโดยหน่วยงานการสืบสวนสอบสวนก่อนการพิจารณาคดี)
๖. รัฐผู้รับคำร้องขอจะไม่ปฏิเสธการปฏิบัติตามคำร้องขอโดยยกเหตุเรี่องความลับทางธนาคาร
๗. สนธิสัญญานี้จะใช้กับคำร้องขอที่มีขึ้นหลังสนธิสัญญามีผลใช้บังคับถึงแม้ว่าการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำจะเกิดขึ้นก่อนวันนั้น 
 
 
อนึ่ง ประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องทางอาญาฉบับแรกในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ หลังจากที่ได้ตราพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งต่อมาแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ปัจจุบัน ไทยมีสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องทางอาญากับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น ๑๔ ประเทศ (รวมฉบับล่าสุดคือยูเครน) และเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องทางอาญาของอาเซียน
 
สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายในเรื่องทางอาญาระหว่างไทยกับยูเครนจะช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถดำเนินความร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและนำไปสู่การดำเนินการให้ความร่วมมือทางอาญาระหว่างกันในด้านอื่น ๆ ต่อไป 
 
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ