กรมการกงสุลร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก นำคณะกรรมการสหวิชาชีพ ให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ชุมชนไทยในเยอรมนี

กรมการกงสุลร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก นำคณะกรรมการสหวิชาชีพ ให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ชุมชนไทยในเยอรมนี

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 621 view

          เมื่อวันที่ ๗-๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ กรมการกงสุล ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก นำคณะกรรมการสหวิชาชีพจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานอัยการสูงสุด นำโดยนายสรยุทธ ชาสมบัติ รองอธิบดีกรมการกงสุล เดินทางไปให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยในต่างแดน และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่คนไทยในเยอรมนีตอนใต้ ในพื้นที่เมืองสำคัญ ๕ เมือง ได้แก่ เมือง Stuttgart Waldkirch Hausach Mannheim และนครมิวนิก

          วิทยากรหลักในกิจกรรมข้างต้น ได้แก่ นายสุโสฬส พึ่งบุญ หัวหน้ากลุ่มงานมาตรฐานและระเบียบการทะเบียนทั่วไป สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง และนายอัตรา ขุนทองจันทร์ อัยการประจำกอง สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความกระจ่างต่อ   ข้อซักถามของคนไทยซึ่งส่วนใหญ่สนใจสอบถามประเด็นเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารของบุตรชายที่ถือสองสัญชาติไทย-เยอรมัน  การซื้อที่ดินและการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของคู่สมรสชาวเยอรมัน  การทำพินัยกรรมและสิทธิของ คู่สมรสชาวเยอรมันหรือบุตรสัญชาติไทย-เยอรมันในการรับทรัพย์มรดกในประเทศไทย  การสละสัญชาติไทยและการขอคืนสัญชาติไทย  การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมและสิทธิในการปกครองบุตร  การจดทะเบียนฐานะครอบครัวและการใช้/เปลี่ยนชื่อสกุล นอกจากนี้ นายบัญชา ยืนยงจงเจริญ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับนโยบายและบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการคุ้มครองดูแลคนไทยในต่างประเทศ อาทิ การช่วยเหลือคนไทย       ตกทุกข์ได้ยากในสถานการ์ณต่าง ๆ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไทยผ่านกิจกรรมส่งเสริมความสามัคคีในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น

          โครงการข้างต้นได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งจากสมาคม/ชมรมคนไทยในพื้นที่ ได้แก่ สมาคมธารา สมาคมโรงเรียนไทยเมืองวัลด์เคียร์ช  สมาคมบ้านแสนสุขเมืองเฮาสัก  สมาคมวัดไทยมิวนิค  ชมรมสื่อสัมพันธ์คนไทยในยุโรป เครือข่ายสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และกลุ่มอนุรักษ์ดนตรีไทย "รากไทย" ซึ่งมีคนไทยให้ความสนใจ เข้าร่วมกิจกรรม และตั้งใจสอบถามประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ กันอย่างเข้มข้น รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง ๕ ครั้ง ประมาณ ๒๕๐ คน

                   

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ