เมื่อวันที่ ๓ – ๔ เมษายน ๒๕๖๒ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศในภารกิจในฐานะประธานของอาเซียนเพื่อสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขปัญหาผู้พลัดถิ่นจากรัฐยะไข่ในบังกลาเทศ ระหว่างการเยือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนายอะบูลกาลาม อับดุล โมเมน (A.K. Abdul Momen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศในบังกลาเทศ ได้แก่ โครงการอาหารโลก (World Food Programme : WFP) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees : UNHCR) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration : IOM)
ในการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ ฝ่ายบังกลาเทศแสดงความเชื่อมั่นต่อบทบาทของไทยในฐานะมิตรประเทศใกล้ชิดและในฐานะประธานอาเซียนในการคลี่คลายปัญหา ผู้พลัดถิ่นจากรัฐยะไข่ โดยเฉพาะในการส่งผู้พลัดถิ่นดังกล่าวกลับรัฐยะไข่อย่างปลอดภัย มีศักดิ์ศรี และยั่งยืน ฝ่ายบังกลาเทศได้แจ้งให้ทราบถึงผลการเจรจากับฝ่ายเมียนมาและมุมมองของบังกลาเทศในประเด็นปัญหาดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางต่าง ๆ ในการดำเนินความร่วมมือกับเมียนมาเพื่อส่งกลับ ผู้พลัดถิ่น โดยเฉพาะการดูแลความปลอดภัยและสวัสดิการของผู้ส่งกลับ และบทบาทของอาเซียนในการสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในนามรัฐบาลไทยแก่ผู้พลัดถิ่นในบังกลาเทศ ผ่านองค์การอาหารโลก (World Food Programme : WFP) และองค์กรเครือข่ายของสหประชาชาติ จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้สนับสนุนภารกิจจำเป็นเร่งด่วนในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และภาวะโภชนาการของผู้พลัดถิ่น
ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำความมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือในลักษณะที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคลากร โดยตระหนักถึงศักยภาพและโอกาสของแต่ละฝ่ายที่ยังมีอยู่อีกมากในการขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และเห็นพ้องให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงโดยนำคณะนักธุรกิจมาเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างกัน โอกาสนี้ ฝ่ายบังกลาเทศขอบคุณไทยที่ให้ความร่วมมือด้านวิชาการและเพื่อการพัฒนาการเป็นอย่างดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะการสนับสนุนการแต่งตั้งตำแหน่งศาสตราภิชาน (Bangabandhu Chair Professor) ประจำสถาบัน AIT เพื่อเป็นเกียรติแก่ Bangabandhu Sheikh Mujibur Rahman ผู้ก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ นอกจากนี้ ฝ่ายบังกลาเทศขอรับการสนับสนุนด้านการพัฒนาตลาดและการท่องเที่ยวซึ่งฝ่ายไทยมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีให้แน่นแฟ้น ยิ่งขึ้นผ่านกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (the Joint Trade Committee) และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย – บังกลาเทศ (Joint Commission)