การประชุมคณะกรรมการบริหารราชการในต่างประเทศ ครั้งที่ ๑: ขับเคลื่อนการต่างประเทศด้วย “ทีมประเทศไทย”

การประชุมคณะกรรมการบริหารราชการในต่างประเทศ ครั้งที่ ๑: ขับเคลื่อนการต่างประเทศด้วย “ทีมประเทศไทย”

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มี.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,089 view
เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการในต่างประเทศ หรือ “ทีมประเทศไทยส่วนกลาง” ครั้งที่ ๑ ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่างประเทศ หรือ “การต่างประเทศ 5S/๕ มี” อย่างมีเอกภาพ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ทั้งนี้ มีผู้แทนที่เป็นกรรมการและผู้แทนจากส่วนราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศเข้าร่วมกว่า ๘๐ คน 
 
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการในต่างประเทศได้เห็นพ้องถึงการผนึกกำลังของทุกส่วนราชการในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่างประเทศ โดยมีคณะกรรมการบริหารราชการในต่างประเทศเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กำหนดลักษณะโครงการของปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ที่จะดำเนินการในแต่ละภูมิภาคยุทธศาสตร์และประเทศเป้าหมาย เพื่อให้ภารกิจของทีมประเทศไทย ทั้งที่ส่วนกลางและในต่างประเทศ เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อบรรลุเป้าหมายของ “การต่างประเทศ 5S/๕ มี” คือ “การต่างประเทศไทย มีเอกภาพ ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีมาตรฐานสากล และมีเกียรติภูมิในประชาคมโลก” 
 
“การต่างประเทศ 5S/๕ มี” ครอบคลุมมิติการต่างประเทศที่สำคัญทั้ง ๕ มิติ ดังนี้  (๑) มีความมั่นคง (Security) มุ่งให้ประเทศไทยและคนไทยมีความปลอดภัยจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ และมีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกในการเสริมสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค (๒) มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน (Sustainability) มุ่งให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้า การลงทุน การบริการ และความเชื่อมโยงที่สาคัญในภูมิภาคเอเชีย โดยมีระบบเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนกับต่างประเทศบนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านโครงการ SEP for SDGs Partnership (๓) มีมาตรฐานสากล (Standard) มุ่งให้ไทยมีการพัฒนาที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งรวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนหลักสิทธิมนุษยชน และต่อยอดความสำเร็จของรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการประมง IUU รวมทั้งปิดมาตรฐานช่องโหว่ในประเด็นอื่น ๆ (๔) มีสถานะและเกียรติภูมิ (Status) โดยมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพของโลก เป็นเมืองศูนย์กลางการเป็นที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศหรือ Geneva of Asia และใช้การทูตวัฒนธรรม อาทิ การจัดเทศกาลไทยในประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความนิยมไทย และ (๕) มีพลัง (Synergy) มุ่งให้ทุกส่วนราชการและภาคส่วนทั่วประเทศ รวมทั้งคนไทยในต่างประเทศ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยกับประชาคมโลก นอกจากนี้ มุ่งให้การบริการด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะการบริการกงสุล แก่ประชาชนไทยทั้งในและนอกประเทศ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว 
 
คณะกรรมการบริหารราชการในต่างประเทศ จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารราชการในต่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ 
 
ปัจจุบันส่วนราชการต่าง ๆ ของไทยได้ส่งบุคลากรไปประจำการในต่างประเทศกว่า ๑,๐๐๐ คน จาก ๑๖ หน่วยงาน ซึ่งครอบคลุม ๖๗ ประเทศทั่วโลก ดูแล ๑๘๐ ประเทศ ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มี “ทีมประเทศไทย” ที่เข้มแข็ง ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ทัพหน้า”ที่สำคัญของไทยในต่างประเทศ โดยมีเอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้า “ทีมประเทศไทย”

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ