ยกยาการ์ตา 28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2562

ยกยาการ์ตา 28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2562

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 811 view
  1. เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๒ นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา พร้อมด้วยนางปิยชนิดร์ สุทธินนท์ สุขจันทร์ ภริยา ได้เข้าเฝ้าฯ สุลต่านฮาเมงกูบูโวโนที่ ๑๐ (Hamengkubuwono X) ผู้ว่าราชการเมืองยอกยาการ์ตา โดยสองฝ่ายเน้นย้ำความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานในระดับราชวงศ์ระหว่างไทยกับเมืองยอกยาการ์ตาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนเมืองยอกยาการ์ตาในปี ๒๔๓๙ และยืนยันความพร้อมที่จะร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับเมืองยอกยาการ์ตา ทั้งด้านการพัฒนาการเกษตรและการพัฒนาทางเลือก (alternative development) ตามแนวพระราชดำริ วัฒนธรรมและ การแลกเปลี่ยนสิ่งทอ การท่องเที่ยวและการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางอากาศ การศึกษาของนักเรียน/นักศึกษาไทยมุสลิมในเมืองยอกยาการ์ตา ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยในเมืองยอกยาการ์ตา ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) และ e-commerce และความร่วมมือเมืองคู่มิตรระหว่าง จ.เชียงใหม่กับเมืองยอกยาการ์ตา
  2. เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๒ นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา พร้อมด้วยนางปิยชนิดร์ สุทธินนท์ สุขจันทร์ ภริยา และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าพบหารือกับศาสตราจารย์ ดร. Yudian Wahyudi อธิการบดีมหาวิทยาลัย UIN Sunan Kalijaga เมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งมีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ประมาณ ๔๐ คน

เอกอัครราชทูตฯ ขอบคุณมหาวิทยาลัยฯ ที่ดูแลนักศึกษาไทยเป็นอย่างดี และชื่นชมการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียที่เน้นแนวทางอิสลามสายกลาง (Moderate Islam) โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีนักศึกษาไทยมุสลิมมาศึกษามากที่สุดเป็นอันดับ ๒ ของโลก (ประมาณ ๒,๐๐๐ คน) และแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนมหาวิทยาลัยฯ ในการขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไทย (อาทิ ความร่วมมือด้านการวิจัยฮาลาล และระดับภาควิชาการ) การจัดเทศกาลไทย (Thai Festival) ของมหาวิทยาลัยฯ รวมทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยและนักศึกษากับมหาวิทยาลัยในไทย การสอนภาษาไทยในอินโดนีเซียและการสอนภาษาอินโดนีเซียในไทย การศึกษาวิจัยร่วมกัน ความร่วมมือในการรับประกันคุณภาพการศึกษา (Quality Assurance) การเทียบวุฒิการศึกษาและการปรับหลักสูตรการศึกษาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้รับเชิญโดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ ให้เป็นผู้บรรยายพิเศษในหัวข้อ "ความสัมพันธ์ไทย - อินโดนีเซีย และความร่วมมือด้านการศึกษา" โดยมีนักศึกษาอินโดนีเซียและนักศึกษาต่างชาติที่มหาวิทยาลัยฯ เข้าร่วมกว่า ๒๐๐ คน (รวมทั้งนักศึกษาไทยประมาณ ๓๐ คน) โดยเอกอัครราชทูตฯ เน้นย้ำความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างไทย - อินโดนีเซียได้ รวมทั้งในด้านการศึกษา และเน้นย้ำว่า นักศึกษาไทยและนักศึกษาอินโดนีเซียต่างเป็น"อนาคตของประเทศและเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - อินโดนีเซีย" และทุกคนเป็น"ทูต" ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - อินโดนีเซีย ทั้งนี้ มีอาจารย์และนักศึกษาอินโดนีเซียจำนวนมากสนใจที่จะไปศึกษาและแสวงหาความร่วมมือกับไทย

  1. เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๒ นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา พร้อมด้วยนางปิยชนิดร์ สุทธินนท์ สุขจันทร์ ภริยา และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เยี่ยมเยียนนักศึกษาไทยที่เมืองยอกยาการ์ตา โดยเอกอัครราชทูตฯ เน้นย้ำความพร้อมของสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่จะสนับสนุนกิจกรรมการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาและให้การสนับสนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมประเทศไทยด้านอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการเปิดรับนักศึกษาให้มาฝึกงานกับสถานเอกอัครราชทูตฯ และหน่วยงานทีมประเทศไทยประจำกรุงจาการ์ตา ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เชิญชวนให้บริษัทไทยในอินโดนีเซียรับนักศึกษาไทยให้มาฝึกงานด้วย ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ เน้นย้ำว่า นักศึกษาไทยในอินโดนีเซียทุกคนเป็นอนาคตของชาติและตัวแทนของประเทศไทยเสมือน"ทูต"ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - อินโดนีเซียทั้งในปัจจุบันและอนาคตหลังจบการศึกษาไปแล้ว อีกทั้งได้หารือกับนักศึกษาเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมกระชับมิตรนักเรียน/นักศึกษาไทยในอินโดนีเซีย (งานรวมตัวนักศึกษาไทยในอินโดนีเซีย) ประจำปี ๒๕๖๒ ที่เมืองยอกยาการ์ตา และการดูแลนักเรียนไทยที่โรงเรียนปอเนาะในพื้นที่รอบเมืองยอกยาการ์ตาด้วย

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้ขอให้นักศึกษาติดตามข่าวสารของสถานเอกอัครราชทูตฯ และลงทะเบียนออนไลน์กับสถานเอกอัครราชทูตฯ โดยเน้นย้ำความสำคัญของข้อมูลนักศึกษาในการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติในอินโดนีเซียอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และขอให้สมาคมนักศึกษาไทยเมืองยอกยาการ์ตาเป็นจุดติดต่อประสานงานเบื้องต้นของนักเรียน/นักศึกษาไทยในเมืองยอกยาการ์ตาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย รวมทั้งได้แจ้งนักศึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้นักศึกษาได้ทราบ

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้เยี่ยมเยียนบ้านสมาคมนักศึกษาไทย ๒ หลัง ("บ้าน นศ.ชายและบ้าน นศ.หญิง") ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้สนับสนุนค่าเช่าบ้านอย่างต่อเนื่องทุกปี และได้มอบ"กระเป๋าเป้ฉุกเฉิน" ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินในอินโดนีเซีย และอาหารแห้งให้กับนักศึกษาด้วย โดยมีนักศึกษามาพบปะเอกอัครราชทูตฯ และคณะกว่า ๕๐ คน ซึ่งขอบคุณที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ห่วงใยและดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างดีมาโดยตลอด

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะกรรมสมาคมนักศึกษาไทยเมืองยอกยาการ์ตาจำนวน ๑๕ คนด้วย

  1. เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๒ นายทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา พร้อมด้วยนางปิยชนิดร์ สุทธินนท์ สุขจันทร์ ภริยา และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าพบหารือกับ ดร. Gunawan Budiyanto อธิการบดีมหาวิทยาลัย Muhammadiyah เมืองยอกยาการ์ตา (UMY) ซึ่งมีนักศึกษาไทยอยู่ประมาณ ๓๐ คน และมีความร่วมมือในการด้านวิจัย แลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ๘ แห่ง

เอกอัครราชทูตฯ ขอบคุณที่มหาวิทยาลัยฯ ดูแลนักศึกษาไทยเป็นอย่างดี โดยสนับสนุนให้นักศึกษาไทยมาเรียนที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง โดยไม่ประสงค์จะให้นักศึกษาไทย expose กับ radicalization และ separatism ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีนักเรียน/นักศึกษาไทยมาศึกษามากที่สุดเป็นอันดับ ๒ ของโลก (ประมาณ ๒,๐๐๐ คน) และเมืองยอกยาการ์ตามีนักเรียน/นักศึกษาไทยมากเป็นอันดับต้นของอินโดนีเซีย (ประมาณ ๓๐๐ คน) และขอบคุณองค์กรศาสนา Muhammadiyah และมหาวิทยาลัยฯ ที่ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทยมาโดยตลอด

มหาวิทยาลัยฯ ยินดีที่มีนักศึกษาไทยเป็นนักศึกษาต่างชาติจำนวนมากที่สุดของมหาวิทยาลัย (ร้อยละ ๔๐) และประสงค์จะส่งอาจารย์และนักศึกษาอินโดนีเซียไปศึกษาที่ไทยมากขึ้น โดยขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น และขอให้มหาวิทยาลัยในไทยพิจารณาจัดการสอนภาษาไทยให้นักศึกษา/อาจารย์ที่ไปศึกษา/วิจัยที่ไทยด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฯ ในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย UMY กับรัฐบาลไทยและมหาวิทยาลัยในไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในไทยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียอย่างน้อย ๑๑๑ แห่ง

ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียที่เน้นแนวทางอิสลามสายกลาง (Moderate Islam) ความร่วมมือในการรับประกันคุณภาพการศึกษา (Quality Assurance) การเทียบวุฒิการศึกษาและการปรับหลักสูตรการศึกษาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาสามารถใช้วิชาความรู้กลับไปทำงานในประเทศของตนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

เอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าร่วมพิธีเปิดหลักสูตรการศึกษา International Tropical Farming Summer School ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ตามคำเชิญของอธิการบดีมหาวิทยาลัย UMY ซึ่งมีนักศึกษาไทยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วม ๒ คน และนักศึกษาไทยเข้าร่วมพิธีเปิดฯ ๒๕ คน โดยเอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ความว่า การจัดหลักสูตรฯ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของอินโดนีเซีย ไทยและประเทศต่าง ๆ ที่จะบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ ปี ค.ศ. ๒๐๓๐ และได้กล่าวถึงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ (New Theory) ในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) และได้กล่าวถึงบทบาทของ TICA ในการให้ทุนฝึกอบรมประจำปีตามหลัก SEP การให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโท และการจัดโครงการฝึกอบรมให้แก่ประเทศต่างๆ ซึ่งอินโดนีเซียสามารถใช้ประโยชน์จากกิจกรรมเหล่านี้ได้

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ย้ำว่า นักศึกษาไทยและนักศึกษาอินโดนีเซียต่างเป็น"อนาคตของประเทศและเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ" และทุกคนล้วนทำหน้าที่เป็น "ทูต" ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - อินโดนีเซียทั้งในปัจจุบันและอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ