ไทยเดินหน้าเตรียมให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง

ไทยเดินหน้าเตรียมให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ม.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 815 view

          เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. ๒๕๕๐ (C ๑๘๘) โดยไทยตั้งเป้าหมายจะยื่นหนังสือให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ภายในเดือนมกราคม ๒๕๖๒ ซึ่งจะทำให้ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนและในภูมิภาคเอเชียที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว

          พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งนายจ้างลูกจ้าง ภาคประชาชน ภาควิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายรอบ และได้ยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานในการทำประมง พ.ศ. .... โดยมีเนื้อหาสะท้อนข้อเสนอของทุกภาคส่วนจากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถึง ๖ ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า การให้สัตยาบันจะเป็นประโยชน์ทั้งกับแรงงาน นายจ้าง และภาพลักษณ์ของภาคประมงไทยและสินค้าประมงไทย

          การให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวจะยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองการทำงานบนเรือประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และป้องกันความเสี่ยงที่แรงงานจะตกอยู่ในสภาพแรงงานบังคับ เนื่องจากอนุสัญญา C ๑๘๘ จะช่วยสร้างหลักประกันให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่าแก่แรงงานประมง เช่น การกำหนดชั่วโมงการปฏิบัติงาน คุณภาพที่พักอาศัย อาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาลระบบการตรวจสภาพการทำงานและความเป็นอยู่บนเรือประมง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยดึงดูดแรงงานให้เข้ามาทำงานในภาคประมงมากขึ้น อันจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงต่อไปด้วย

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า อนุสัญญา C๑๘๘ จะใช้บังคับเฉพาะกับกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ของไทยที่มีขนาด ๓๐ ตันกรอสส์ขึ้นไป ซึ่งไทยมีประมาณ ๕,๐๐๐ ลำ ครอบคลุมแรงงานประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน โดยไม่มีผลบังคับใช้กับเรือประมงพื้นบ้านที่ไทยมีอยู่ประมาณ ๒๖,๐๐๐ ลำ โดยคาดว่าการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้จะเริ่มได้ประมาณกลางปี ๒๕๖๒ ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยมีการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของอนุสัญญาอยู่แล้วถึงร้อยละ ๘๐

          ไทยมีความมุ่งมั่นจริงจังที่จะยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานทั้งไทยและต่างด้าวในภาคประมงของไทยให้ดียิ่งขึ้นเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมการประมงที่มีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล โดยรัฐบาลได้ผลักดันการทำงานในเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยมีการทำการประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลในเรื่องนี้