การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – รัสเซีย ครั้งที่ ๗

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – รัสเซีย ครั้งที่ ๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ธ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,540 view
เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – รัสเซีย ครั้งที่ ๗ (7th Session of the Joint Thai-Russian Commission on Bilateral Cooperation – JC7) ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และมีนายเดนิส แมนทูรอฟ (Mr. Denis Manturov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมฝ่ายรัสเซีย 
 
ประธานร่วมทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ที่ทั้งสองประเทศให้ความสนใจ โดยฝ่ายไทยได้ผลักดันประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การให้รัสเซียพิจารณานำเข้าสินค้าอาหารและเกษตรจากฝ่ายไทยเพิ่มขึ้น โดยไทยพร้อมที่จะเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับรัสเซีย การเร่งรัดให้ฝ่ายรัสเซียส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบโรงงานส่งออกสินค้าประมงที่ยังค้างอยู่โดยเร็ว รวมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียเข้าร่วมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) และร่วมเป็น Development Partner ของ ACMECS ซึ่งฝ่ายรัสเซียได้แสดงความสนใจในโครงการ EEC โดยเฉพาะในสาขาอากาศยาน เทคโลยีดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานระบบราง และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งยังได้เห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนของภาคเอกชนและการจัดกิจกรรมสัมมนาและจับคู่ทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น การขยายจำนวนนักท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่าย การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้บัตรเครดิตที่ออกโดยสถาบันการเงินของรัสเซีย การส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน และความร่วมมือในสาขาพลังงานและเวชภัณฑ์ เป็นต้น
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้ให้ความเห็นชอบบันทึกการประชุม (Agreed Minutes) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศที่จะส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อย่างครอบคลุม ได้แก่ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร ความมั่นคง การเงินการธนาคาร การเกษตร พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ตลอดจนความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ASEAN ACMECS ACD ASEM CICA ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในอนาคต 
 
ภายหลังการประชุม JC7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสหพันธรัฐรัสเซีย ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างภาครัฐและเอกชนจำนวน ๓ ฉบับ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียด้านความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม พิธีสารระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับสำนักงานเฝ้าระวังสุขอนามัยพืชและสัตว์แห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยข้อกำหนดความปลอดภัย คุณภาพ และสุขอนามัยพืชสำหรับการจัดส่งธัญพืชและผลิตภัณฑ์ธัญพืชของทั้งสองฝ่าย และบันทึกความเข้าใจระหว่างหอการค้าไทย – รัสเซียกับสภาธุรกิจรัสเซีย – ไทย 
 
หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสหพันธรัฐรัสเซียยังได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพบหารือข้อราชการกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนเดินทางกลับในช่วงเย็นของวันเดียวกัน 
 
การประชุม JC ไทย – รัสเซีย เป็นกลไกการประชุมหารืออย่างเป็นทางการในระดับรัฐบาลระหว่างไทยกับรัสเซีย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๖ โดยนับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ ๖ เมื่อปี ๒๕๕๘ เป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียได้รับการขับเคลื่อนจนมีความก้าวหน้าและมีพลวัตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การแลกเปลี่ยนการเยือนและการพบหารือในระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรีที่มี อย่างสม่ำเสมอ มีการจัดประชุมในระดับต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง อาทิ คณะอนุกรรมาธิการร่วมด้านการเกษตร และด้านเศรษฐกิจและการค้า และคณะทำงานร่วมในสาขาต่าง ๆ เช่น พลังงาน ท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การเงินการธนาคาร ความมั่นคง และการส่งกำลังบำรุง นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความตกลงร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอีกเป็นจำนวนมาก
 
อนึ่ง ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา การค้าไทย-รัสเซีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๒๘.๓ หรือจาก ๒,๓๕๕.๙๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๕๘ เป็น ๓,๐๒๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๖๐ โดยรัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๒๙ ของไทยในปัจจุบัน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นจาก ๙๓๓,๒๓๘ คน เป็น ๑.๔ ล้านคน เป็นการขยายตัวร้อยละ ๕๐
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ