วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ธ.ค. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติได้เป็นเจ้าภาพจัดงานวันดินโลก (World Soil Day) ประจำปี ๒๕๖๑ (วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี) เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นิวยอร์ก โดยร่วมกับคณะผู้แทนถาวรอาร์เจนตินา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) และสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (Secretariat to the United Nations Convention to Combat Desertification: UNCCD) ภายใต้หัวข้อ “Be the solution to soil pollution”
การจัดงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นปีที่ ๕ ติดต่อกัน เพื่อย้ำความสำคัญของดินและผลักดันการบริหารจัดการดินที่ยั่งยืน การอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน รวมทั้งเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงได้อุทิศตนและมีบทบาทริเริ่มที่สำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน จนได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยในปี ๒๕๕๖ สมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๖๘ ได้รับรองข้อมติซึ่งกำหนดให้วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์เป็นวันดินโลก
นายวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติได้กล่าวเปิดงาน โดยย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการดินอย่างยั่งยืน เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และกล่าวถึงบทบาทของไทยในการบริหารจัดการทรัพยากรดิน ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (Center of Excellence for Soil Research in Asia – CESRA) ที่ จ. นครราชสีมา เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมความร่วมมือในการบริหารจัดการดินอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค และการมอบรางวัลวันดินโลกแก่บุคคล ชุมชน หรือองค์กรที่มีผลงานในการส่งเสริมการอนุรักษ์และการบริหารจัดการดินเป็นครั้งแรกในปีนี้
นาง Carla Mucavi ผู้อำนวยการสำนักงาน FAO นครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวว่า กิจกรรมวันดินโลกในปีนี้มีการเฉลิมฉลองวันดินโลกใน ๖๐ ประเทศทั่วโลก อีกทั้งได้กล่าวเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สำหรับพระราชวิริยะอุตสาหะตลอดพระชนม์ชีพในงานด้านการอนุรักษ์และการบริหารจัดการดินอย่างยั่งยืน ซึ่ง
การอภิปรายนำเสนอสถานการณ์มลพิษในดิน ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งทุกคนสามารถมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยนอกเหนือจากผู้เชี่ยวชาญจาก FAO UNCCD และ United States Department of Agriculture ผู้แทนเยาวชนไทย ๒ คนได้ร่วมเป็นผู้อภิปราย โดยผลักดันบทบาทที่สร้างสรรค์ของเยาวชนในการร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการปรับพฤติกรรมง่ายๆ เช่น การลดขยะหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดขยะ นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงโครงการหลวงเกี่ยวกับการดูแลรักษาดินให้มีคุณภาพดี และการบริหารจัดการน้ำอย่างครอบคลุม รวมทั้งหลักปรัชญา ศก. พอเพียงที่ส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนชาวไทย และประเทศต่างๆ ที่มีโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนากับประเทศไทย
กิจกรรมงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้แทนจากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งประเทศสมาชิกสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **